29 ก.ค.65 - กรมน้ำบาดาล เดินหน้า “เติมน้ำใต้ดิน” หวังแก้ปัญหาน้ำแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร และนครพนม
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งศึกษาและทดสอบการเติมน้ำใต้ดิน ผ่านระบบสระเติมน้ำและบ่อวงคอนกรีต เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำบาดาลระดับตื้นในฤดูแล้ง และช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมขังในฤดูฝน สร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร และนครพนม อย่างยั่งยืน ณ สระเติมน้ำบ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เปิดโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ อย่างเป็นทางการ
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าใว่า ลุ่มน้ำก่ำเป็นลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ต้นน้ำเริ่มจากหนองหาน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงแม่น้ำโขงที่ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยมีสภาพภูมิประเทศที่มีความลาดเทจากด้านทิศตะวันตกไปทางด้านทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่มที่มีฝนตกชุกเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุในทะเลจีนใต้ และเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณช่วงปลายของลำน้ำมีสภาพเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงซ้ำซาก
จึงทำให้ในฤดูฝนมักเกิดปัญหาอุทกภัย ส่วนในฤดูแล้งลำน้ำมีปริมาณน้ำน้อยทำให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ โดยได้มอบหมายให้สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการศึกษาหาวิธีแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยทดลองนำน้ำผิวดินที่มีมากในฤดูฝนมากักเก็บไว้ใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำและบ่อวงคอนกรีต ทั้งนี้ให้คัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน
โดยใช้ข้อมูลธรณีฟิสิกส์ ข้อมูลการเจาะทดสอบดิน ข้อมูลการเจาะบ่อสังเกตการณ์ ข้อมูลอัตราการซึมได้ของชั้นดินและข้อมูลสำรวจรังวัดพื้นที่ หลังจากนั้นจึงดำเนินการเก็บข้อมูลภาคสนามขั้นรายละเอียด เพื่อออกแบบและการก่อสร้างระบบสระเติมน้ำ จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่
- บ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
- บ้านนาเชือกน้อย ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
- บ้านใหม่วังเซือม ตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
จากผลการศึกษาของแต่ละพื้นที่พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นต่อปีได้มากกว่า 50,000 ลูกบาศก์เมตร
- พื้นที่ บ้านดงขวาง ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ112,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 308 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และน้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 1,805 เมตร ในเวลา 10 ปี
- พื้นที่ บ้านนาเชือกน้อย ตำบลหนองเทาใหญ่ อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ 107,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 294 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันออก และมีผลการคาดการณ์ในระยะเวลา 10 ปี น้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 525 เมตร
- พื้นที่บ้านใหม่วังเซือม ตำบลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ 58,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือ 160 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันตกเฉียงใต้ และมีผลการคาดการณ์ในระยะเวลา 10 ปี น้ำสามารถเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 1,266 เมตร
การเติมน้ำใต้ดินนั้นจะเห็นผลได้ดีในระยะยาว ยิ่งมีพื้นที่ที่เหมาะสมมากเท่าไรก็จะยิ่งเติมน้ำใต้ดินได้มากขึ้นเท่านั้นสำหรับประชาชนในพื้นที่ดำเนินการทั้ง 3 แห่ง ได้มีส่วนร่วมกับโครงการมาโดยตลอด และได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเร่งศึกษาวิเคราะห์และประเมินผลของโครงการในเชิงเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล
นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวว่า การเลือกรูปแบบการเติมน้ำใต้ดินขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิประเทศ สภาพธรณีวิทยา คุณภาพ น้ำบาดาลในพื้นที่ ค่าใช้จ่าย ซึ่งมีหลักการคือต้องขุดสระให้ลึกจนถึงชั้นกรวดทราย และผ่านชั้นดินเหนียวจึงจะสามารถทำให้เติมน้ำได้ดี และสำหรับประชาชนทั่วไปที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด สามารถพิจารณาใช้รูปแบบการเติมน้ำใต้ดินผ่านบ่อวงคอนกรีต หรือถ้ามีสระน้ำอยู่แล้วสามารถเติมน้ำใต้ดินผ่านสระได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.dgr.go.th