X

รู้จัก "งู" ที่มากันหน้าฝน

10 มิ.ย. 2564
3820 views
ขนาดตัวอักษร





งู สัตว์เลื้อยคลานที่ใครหลายๆคนไม่พึงประสงค์ และเรามักจะพบมากในหน้าฝน และชอบมากับภัยนํ้าท่วม


งูมักเป็นแขกที่ไม่ได้เชิญในฤดูฝนชุก บ้านใครอยู่ใกล้แหล่งน้ำต้องไม่ลืมว่า มันมักหนีน้ำขึ้นมาซุก หรือถึงกับโผล่พรวดเข้ามาในบ้าน งูเมืองไทยมีมากมายหลายชนิด ทั้งแบบไม่มีพิษ และมีพิษ


ในประเทศไทยมีรายงานอุบัติการณ์งูพิษกัดประมาณ 7,000-10,000 รายต่อปี


งูพิษที่มีความสำคัญที่พบบ่อยในประเทศไทย

1. งูที่มีพิษต่อระบบประสาท ได้แก่ งูเห่าไทย งูเห่าพ่นพิษสยาม งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา

2. งูที่มีพิษต่อระบบเลือด ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้

3. งูที่มีพิษทำลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล


อาการและอาการแสดง

เมื่อถูกงูพิษกัด จะมีรอยเขี้ยวพิษเป็นรูเหมือนถูกเข็มตำ 2 รอย


1. งูที่มีพิษต่อระบบประสาท พิษของงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเป็นอัมพาต จะเริ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็ก ไปจนถึง กล้ามเนื้อมัดใหญ่และสุดท้ายจะเป็นทั้งตัว อาการแรกเริ่ม คือ หนังตาตก ผู้ป่วยลืมตาไม่ขึ้น ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดๆ ว่าผู้ป่วยง่วงนอน ต่อมาจะเริ่มกลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ และหยุดหายใจ เสียชีวิต


2. งูที่มีพิษต่อระบบเลือด เมื่อถูกงูแมวเซาฉกกัด มีอาการปวดบวมบริเวณรอบแผลเล็กน้อย สำหรับงูกะปะจะพบตุ่มน้ำเลือดหลายอัน และบางอันมีขนาดใหญ่ และมีเลือดออกจากแผลที่ถูกกัด ในกรณีของงูเขียวหางไหม้ จะมีอาการบวมบริเวณที่ถูกกัด และลามขึ้นค่อนข้างมาก เช่น ถูกกัดบริเวณนิ้วมือ แต่บวมทั้งแขน นอกจากนี้จะมีอาการช้ำเลือด


พิษของงูจะไปทำให้เลือดในร่างกายไม่แข็งตัว เลือดออกไม่หยุด เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง ปัสสาวะมีเลือดปน เลือดออกตามไรฟัน ในกรณีของงูแมวเซาจะมีความรุนแรงกว่างูกะปะและงูเขียวหางไหม้ และพบภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วยได้


3. งูที่มีพิษทำลายกล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัว ปัสสาวะมีสีเข้มจนถึงสีดำ ปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากมีภาวะไตวายเฉียบพลัน อาจมีหัวใจหยุดเต้นจากภาวะโพแทสเซียมคั่งในเลือด


การดูแลตนเอง

1. ไม่ต้องตกใจ งูที่กัดอาจไม่ใช่งูพิษ ให้ดูที่แผลที่ถูกกัด แผลงูพิษกัดจะมีลักษณะเหมือน เข็มตำ ขณะที่แผลจากงูไม่มีพิษจะเป็นรอยฟัน นอกจากนี้งูพิษกัดบางครั้งจะกัดแต่ไม่ ปล่อยพิษ

2. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัด

3. ให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

4. ล้างบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด

5. ห้ามกรีดหรือดูด บริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรใช้สมุนไพรพอก เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ

6. ไม่ควรชันชะเนาะ หากไม่รู้จักการขันชะเนาะที่ถูกวิธี

7. ถ้าผู้ถูกกัดหยุดหายใจ ให้เป่าปากผายปอดเพื่อช่วยชีวิต


การป้องกัน

1. ในบริเวณบ้านและสถานที่อยู่อาศัย ต้องไม่มีที่รกรุงมาก จนเป็นที่อาศัยของงูหรือหนู เพราะบางครั้งงูจะมากินหนู

2. การเดินทางในเวลากลางคืนต้องพกไฟฉายและส่องไฟตลอดเวลา หรือเดินในที่ที่มีแสงไฟส่องสว่างพอ

3. การเดินในสถานที่มีงูชุกชุมต้องใส่รองเท้าหุ้มส้น

4. ก่อนจะสวมรองเท้าหุ้มส้น ควรตรวจสอบเสียก่อนว่ามีงูหลบซ่อนอยู่ในรองเท้าหรือไม่

5. ควรหลีกเลี่ยงการงัดแงะ ขุด คุ้ย ก้อนหิน ขอนไม้ หรือการใช้มือ เท้า หรือมุดเข้าไปในโพรงที่ทึบ เนื่องจากอาจมีงูหลบซ่อนอยู่ได้

6. เมื่อเจองูควรหลีกเลี่ยงอยู่ห่าง อย่าเข้าใกล้ แนบ


ข้อมูล : siamensis.org



Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล