มีความคิดเห็นอย่างไร..? มอบ ศอ.บต. กรมอุทยานฯ ศึกษาข้อเสนอประชาชน ถอด “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์สงวน ดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจส่งเสริมอัตลักษณ์ จังหวัดชายแดนใต้ เหมือนเช่น นกเขาชวา จากที่ชาวบ้านเพาะพันธุ์ จำนวนมากแล้ว ขณะที่ข้อมูล บก.ปทส. ไขข้อสงสัย เลี้ยงยังไงให้โดนจับ ??
ทีมผู้แทนพิเศษรัฐบาล แก้ปัญหาชายแดนใต้ รับฟังข้อเสนอประชาชนปลด “นกกรงหัวจุก” จากบัญชีสัตว์สงวน เลี้ยงกันจำนวนมาก ดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ
ทีมผู้แทนพิเศษของรัฐบาล มอบ ศอ.บต. กรมอุทยานฯ ศึกษาข้อเสนอประชาชน ถอด “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์สงวน ดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจส่งเสริมอัตลักษณ์ จังหวัดชายแดนใต้ ชาวบ้านเพาะพันธุ์เอง จำนวนมากแล้ว
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า วานนี้ (24 มีนาคม 2565) พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ติดตามความคืบหน้า งานด้านความมั่นคง การต่างประเทศ การขับเคลื่อน ศูนย์พัฒนาทักษะทางภาษา เพื่อการสื่อสารในพื้นที่ และการแก้ปัญหาการทำประมง และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มี การพิจารณาข้อเสนอ จากประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการให้ปลด “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์สงวน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เนื่องจากปัจจุบัน มีการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก อีกทั้งยังสอดรับกับ นโยบายการส่งเสริม การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย ที่ประชุมจึงเห็นชอบ ให้ศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอเรื่องให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการรับฟัง ความเห็นของประชาชน และศึกษาสถานการณ์ จำนวนนกกรงหัวจุก เพื่อพิจารณาการถอดถอน ออกจากบัญชีสัตว์สงวน ซึ่งกรณีคล้าย ๆ กัน เช่น นกเขาชวา ที่ได้ถูกถอดออกจาก บัญชีสัตว์สงวน เมื่อพบว่า มีจำนวนมากในธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงในกรง มีศักยภาพมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ นกเขาชวา กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ของพื้นที่ภาคใต้ อีกชนิดหนึ่ง
ในอดีต มีความกังวลถึงการสูญพันธุ์ ของนกกรงหัวจุก จึงได้กำหนดให้เป็นสัตว์สงวน ตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า ตั้งแต่ปี 2503 เมื่อครั้งเปิดให้มี การแจ้งการครอบครองปี 2546 มีผู้มาแจ้งจำนวนกว่า 9 หมื่นตัว
ปัจจุบันนี้ นกกรงหัวจุก ที่ประชาชนเลี้ยง และมีการขยายพันธุ์เอง มีจำนวนมาก และเมื่อรวมทั่วประเทศแล้ว มีมากกว่าหลายแสนตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ ยังถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ ทั้งคนเลี้ยง และกลุ่มชุมชน ที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น กรง, อาหารสัตว์, ถ้วยเซรามิกใส่น้ำ
นอกจากนี้ การเลี้ยงนกกรงหัวจุก ยังเป็นทั้งวิถีชีวิต และอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทั้งเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน หรือส่งเข้าประกวด เป็นที่นิยมของ คนทุกเพศ ทุกวัย และเป็นกิจกรรม สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างกลุ่มคน ประกอบกับ เยาวชนบางกลุ่มในพื้นที่ ยังมีมุมมองว่า การเลี้ยงนกกรงหัวจุก เป็นกิจกรรม ที่ช่วยให้ห่างไกลยาเสพติด เพราะคนเลี้ยงต้องใส่ใจดูแล มีเป้าหมายในการฝึกนกร้อง เพื่อไปแข่ง ทำให้มีความสุขได้ โดยไม่ต้องพึ่งอบายมุข
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มว่า พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้ขับเคลื่อนการทำงาน ตามข้อสั่งการ และนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้การแก้ปัญหา พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม เชื่อมการทำงานระหว่าง เจ้าหน้าที่ และความต้องการของคนในพื้นที่ อย่างแท้จริง คณะกรรมการชุดนี้ เป็นอีกกลไกหนึ่ง เพื่อการติดตาม ประสาน ขับเคลื่อน ให้การดำเนินงาน ของภาครัฐนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสันติภาพ อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ Backbone MCOT ขอพาไปเรียนรู้ข้อมูล นกกรงหัวจุก เลี้ยงยังไงให้โดนจับ !!? กับ กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ซึ่งแอดมินเพจ ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ การเลี้ยงนกปรอดหัวโขน หรือ นกปรอดหัวจุก หรือที่นิยมเรียกกันว่า นกกรงหัวจุก ว่า
Q&A เลี้ยงยังไงให้โดนจับ ??
1. จับนกป่ามาเลี้ยง เอามาขออนุญาตได้ไหมครับ ?
+ แค่เริ่มก็ผิดแล้ว ก็เหมือนติดกระดุมผิดเม็ด มันไปต่อก็ไปไม่ได้หรอก ผิดตั้งแต่ไปเอาของจากธรรมชาติมาเลี้ยง ถ้าจะเอามาขออนุญาตจะพาลโดนจับเอาซะเปล่า ๆ
2. แล้วคนที่เลี้ยงกันถูกต้องเขาทำกันยังไง ?
+ คนที่เขาเลี้ยงกันอย่างถูกต้อง เขาเริ่มจากเมื่อประมาณปี 2546 มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนครอบครองนก ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง คนที่เขามีความรับผิดชอบ ก็จะไปทำให้ถูกต้อง แล้วนกก็จะได้ห่วงขามาแสดงว่า ฉันมีทะเบียนนะ แล้วกรมอุทยานฯ ก็จะออกใบอนุญาตให้ผู้เลี้ยง แล้วถ้าเวลาจะขาย ก็จะขายพร่ำเพรื่อไม่ได้ ต้องได้รับอนุญาต จากกรมอุทยานฯ ก่อน ใด ๆ ก็คือ ต้องมีใบอนุญาตค้าอีก แล้วเวลาขายให้ใครไป ต้องออกใบกำกับการจำหน่ายไปให้ด้วย คนซื้อก็ต้องถือ ใบกำกับการจำหน่ายเนี่ย ไปยื่นที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ในท้องที่ตัวเอง บอกว่า นกทะเบียนนี้ ๆ ๆ ๆ ๆ จะมาอยู่ในความครอบครองของผม ในท้องที่นี้ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ภายในเวลาที่กำหนด ในใบกำกับการจำหน่าย (ส่วนมาก คือ 24 ชม.) สรุปคือ ถ้าอยากเลี้ยงถูกต้อง ...ต้องซื้อนกจากฟาร์ม ที่มีใบอนุญาตค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ค่ะ
3. ถือใบกำกับการจำหน่ายไว้ ไม่ได้ไปแจ้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ผิดไหม ?
+ ผิดเต็ม ๆ เพราะความผิด ไม่ได้เกิดที่ตัวสัตว์ค่ะ เกิดที่คนครอบครองนั่นแหละ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต จากกรมอุทยานฯ เลย เพราะฉะนั้น ใครที่ถือไว้ แต่ใบกำกับการจำหน่าย ใด ๆ คือ รีบไปแจ้งขออนุญาต ให้เรียบร้อยก่อน งานนี้ ไม่ว่าคนไหน หรือใครอ้างว่า คนใหญ่คนโต ก็โดนมาแล้วนะคะ ไม่มีข้อยกเว้น
4. ใจอนุรักษ์ แต่ผิดพลาดทางเทคนิค ไม่รู้ คือไม่ผิด ใช้ข้ออ้างนี้ได้ไหม ?
+ กฎหมายไทย อ้างว่า ไม่รู้ไม่ได้ค่ะ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คือ ทุกคนต้องรับรู้ หน้าที่พลเมืองขั้นพื้นฐานค่ะ
5. อ้างตนเป็นคนจน ทำอะไรก็ได้ หรอ ?
+ ไม่ใช่ข้ออ้าง ในการกระทำความผิดค่ะ ใครก็ตาม ต้องทำตามกฎหมายทุกคน !!
6. นกป่วย ช่วยเหลือได้ไหม ?
+ สมควรช่วยเหลือ อนุบาลในช่วงแรกก่อน แล้วนำส่งคลินิกสัตว์ป่า ของกรมอุทยานฯ ให้ดูแลต่อ ตามหน้าที่ของเขาค่ะ เราไม่ควรเก็บไว้ ในครอบครองเองค่ะ จะเข้าข่ายมีสัตว์ป่าคุ้มครอง ไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่... ควรทำอย่างไร ? - ควรโทร 1362 ค่ะ
7. สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า #สัตว์ป่าไม่ใช่สัตว์เลี้ยง
พบเห็นการกระทำความผิด โทร 1136 สายด่วน กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม หรือ Inbox เพจ “บก.ปทส. Greencop-Thailand”
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ : รัฐบาลไทย ROYAL THAI GOVERNMENT
https://www.thaigov.go.th
เฟซบุ๊ก : ไทยคู่ฟ้า
https://www.facebook.com/ThaigovSpokesman
เฟซบุ๊ก : กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
https://www.facebook.com/NEDPolice
ข้อมูล : นกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก (Pycnonotus jocosus) :
จัดเป็น สัตว์ป่าจำพวกนก ลำดับที่ 27
จากเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 120 ตอนที่ 59 ก หน้า 1 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2546
ตามที่ กฎกระทรวง กำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ. 2546
บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00125376.PDF
(Backbone MCOT ตรวจสอบข้อมูล เมื่อ: 28 มีนาคม 2565)
28 มี.ค. 2565
9380 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย