26 มี.ค.68 - มช. จับมือ SATAKE Corporation ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีอาหารจากประเทศญี่ปุ่น ก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรไทย
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือ SATAKE Corporation ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีอาหารจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ ด้วยการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม เสริมสร้างศักยภาพด้านการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรเชียงใหม่ให้ก้าวสู่ระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน ในวันที่ 24 มีนาคม 2568 ณ ห้องพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Mr. Kazuhisa Matsumoto, President of SATAKE Corporation พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร และ Dr.Hidenori Mizuno, Managing Executive Officer, General Manager of Technical Division, SATAKE Corporation ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรเชียงใหม่
บันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากรำข้าว อันจะนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม พร้อมด้วยความร่วมมือดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิจัยและนักศึกษา พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การร่วมงานกับซาตาเกะ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีอาหาร จะช่วยผลักดันให้งานวิจัยของเรามีความเป็นสากล และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร"
Mr. Kazuhisa Matsumoto ประธาน ซาตาเกะ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า "เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรได้อย่างยั่งยืน"
บันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีระยะเวลา 5 ปี และสามารถต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นรายปี เพื่อให้ความร่วมมือดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ