ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท 155/2566 วันที่ 8 เม.ย.2568 ในคดีที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (โจทก์) ยื่นฟ้อง กรรมการ กสทช. 4 คน คือ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1) ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 2) , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 3) ,รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 4) และ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. (จำเลยที่ 5) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
หลายฝ่าย กังวล กับผลการตัดสิน เพราะหากกรรมการ กสทช. ต้องคดีอาญา ไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ ยังอาจก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อทั้งองค์กร ระบบการกำกับดูแล และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ เหตุการณ์ลักษณะนี้จึงควรถูกจับตามองทั้งในมิติทางกฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน
เริ่มจาก บทบาททางกฎหมาย ที่กรรมการ อาจพ้นตำแหน่งโดยอัตโนมัติ
ตาม พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการไว้ชัดเจน หากกรรมการคนใดถูกศาลประทับรับฟ้องในคดีอาญาที่ไม่ใช่คดีลหุโทษ หรือถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา จะ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที แม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ตาม
คดีนี้ยังอยู่ในความสนใจของสังคมเนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาเป็นชุดเดียวกับที่ตัดสินคดีหมายเลขดำ อท.147/2566 ซึ่งบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้อง ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หนึ่งในจำเลยของคดีนี้ โดยศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิด และลงโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา
และหนึ่งในผู้พิพากษาองค์คณะชุดนี้ก็เคยพิจารณาคดีหมายเลขดำ อท.199/2565 ที่ น.ส.ธนิกานต์ บำรุงศรี ฟ้องกรรมการ กสทช. กรณีมติรับควบรวมทรู-ดีแทค โดยไม่ใช้อำนาจตามประกาศ กสทช. ซึ่งศาลยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
ดังนั้น การพิจารณาคดีนี้จึงเป็นที่จับตาของวงการสื่อและประชาชน ว่าคำตัดสินของศาลในวันที่ 8 เม.ย. จะเป็นอย่างไร และจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการกำกับดูแลองค์กรอิสระหรือไม่
ถ้า ผลการวินิจฉัยเป็นมีผลเชิงลบกับผู้ถูกร้อง จะเกิดผลกระทบหลายประการตามมา เริ่มจาก ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร
การที่กรรมการระดับสูงต้องคดีอาญาจะทำให้ ภาพลักษณ์ของ กสทช. เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ กสทช. ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรสาธารณะ เช่น คลื่นความถี่ ซึ่งมีมูลค่าสูงและเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ระดับชาติ ความน่าเชื่อถือที่ลดลง อาจทำให้สาธารณชนและผู้ประกอบการ ตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของการดำเนินงาน
ผลที่จะเกิดกับการดำเนินนโยบายและการตัดสินใจ
หากกรรมการคนสำคัญที่มีบทบาทในนโยบายหลักถูกถอดถอนกะทันหัน อาจทำให้ แผนงานและการตัดสินใจระดับยุทธศาสตร์หยุดชะงัก หรือเกิดความล่าช้า เช่น การประมูลคลื่นความถี่ การออกใบอนุญาตใหม่ หรือการแก้ปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาด
โอกาสในการตรวจสอบย้อนหลัง
ในกรณีที่กรรมการคนดังกล่าวเกี่ยวพันกับการออกใบอนุญาตหรืออนุมัติโครงการสำคัญย้อนหลัง อาจมี การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหรือตรวจทานมติย้อนหลัง โดยเฉพาะหากพบว่าเป็นมติที่อาจเกิดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ ซึ่งจะสร้างความไม่แน่นอนให้แก่ผู้ได้รับผลประโยชน์จากมติดังกล่าว
แรงสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรม
ความไม่แน่นอนทางกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร กสทช. อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการในวงการสื่อสาร เช่น ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์ม OTT ต่าง ๆ ชะลอการลงทุน หรือรอดูทิศทางการกำกับดูแลใหม่ ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีหรือบริการบางประเภทสะดุดลง
และโอกาสที่จะนำไปสู่ในการปฏิรูปองค์กร
แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลเสียในระยะสั้น แต่ก็อาจกลายเป็น จุดเริ่มต้นของการเรียกร้องการปฏิรูป กสทช. ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และลดอิทธิพลของการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ โดยอาจมีข้อเสนอให้ปรับระบบการสรรหา แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบ และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของสาธารณะ