24 ต.ค.67 - กรมการแพทย์ จับมือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บูรณาการผสานภูมิปัญญาการแพทย์ตะวันออกและการแพทย์ตะวันตก ส่งเสริมภูมิปัญญาไทย การแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทยร่วมกับการแพทย์แผนตะวันตก ยกระดับระบบสาธารณสุขไทยสู่แนวหน้า
นายโฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากนโยบายคณะรัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุข มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ ยกระดับระบบสาธารณสุขไทยสู่แนวหน้า ควบคู่ไปกับการผลักดันภูมิปัญญาไทยไปสู่ระดับสากล ส่งเสริมการใช้แพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทยร่วมกับการแพทย์แผนตะวันตก จึงเป็นโอกาสที่ดียิ่งในการบูรณาการงานร่วมกันของ 3 กรม ประกอบด้วย กรมการแพทย์ที่มีภารกิจพัฒนาวิชาการด้านการรักษาฟื้นฟูที่มีพื้นฐานจากการแพทย์แผนตะวันตก มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านโรคต่างๆ และมีบริการทางการแพทย์แผนตะวันตก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และการแพทย์พื้นบ้านไทย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อันมีภารกิจในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสมุนไพร เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย ในสถานพยาบาลทั่วไปตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และ ตติยภูมิ โดยผสมผสานไปกับระบบบริการทางการแพทย์แผนตะวันตก ภายใต้การควบคุมคุณภาพ และการสร้างความเชื่อมั่นแก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยผู้มารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลดังกล่าว และเพิ่มทางเลือกในการรักษาของประชาชน ทั้งนี้จะนำเสนอผลการประชุมให้รัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรมการแพทย์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนให้มีการใช้ยาสมุนไพรตามบัญชียาหลัก และการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ร่วมกับการแพทย์แผนตะวันตก และวางแผนจัดทำแนวทางการใช้ยาจากสมุนไพรไทยในกลุ่มอาการต่างๆสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence: COE) ด้านต่างๆ
•
อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง เป็นการศึกษาการใช้ประโยชน์ของสมุนไพรในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งมีทั้งมิติด้านการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและสมุนไพรบางชนิด เช่น ทองพันชั่ง เหงือกปลาหมอ กัญชา ฯลฯ ในขั้นตอนการทดลองในหลอดทดลองและในสัตว์พบว่ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพิ่มการทำลายเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนางานวิจัยทางคลินิกเพื่อขยายผลไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยทางคลินิกและผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป โรคทางระบบประสาท โดยสารสกัดกัญชาชนิดซีบีดีสูง ที่ผลิตในประเทศไทย แบบมาตรฐาน(องค์การเภสัชกรรม) สามารถรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็กเทียบเท่ากับยาซีบีดีของต่างประเทศ แต่ต้นทุนของไทยต่ำกว่าประมาณ 6-8 เท่า และการปนะยุกต์ใช้สมุนไพรในการรักษาโรคผิวหนัง เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษา ทดแทนและลดการนำเข้ายาแผนตะวันตกบางตัว เพิ่มจำนวนการใช้ยาจากสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย นอกจากนี้จะมีการศึกษาวิจัยสารสะกัดสมุนไพรไทยในการนำมาใช้ในการรักษาโรคตามกระบวนการวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า จากการบูรณาการของทั้ง 3 หน่วยงาน ในครั้งนี้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ใน 2 ประเด็นหลักคือ 1) การเพิ่มการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพของประเทศ และ 2) วางรากฐาน สร้างความเชื่อมั่นด้วยการวิจัยประสิทธิผลและความปลอดภัย ของสมุนไพร การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ล่าสุด กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์ และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมดำเนินการวิจัย clinical trial ตามมาตรฐานสากลศึกษาวิจัย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1) ประเด็นวิจัย มะเร็ง 2) ประเด็นวิจัย NCD : เบาหวาน 3)ประเด็นวิจัยสะเก็ดเงิน 4) ประเด็นวิจัยหลอดเลือดสมอง โดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตั้งเป้าหมายผลักดันผลงานวิจัยเข้าสู่แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาโรค และและสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ยาไทย สมุนไพรไทย นวดไทย ในระบบบริการสุขภาพของประเทศ
•
โดยในปีงบประมาณ 2568 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมผลักดันเพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ และการเบิกจ่าย รวมทั้งสนับสนุนการบริการทางการแพทย์ Service Plan เข้าสู่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน ในหน่วยงาน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศ พร้อมจัดทำคู่มือเพื่อส่งเสริมการใช้รายการยาสมุนไพรเพื่อนำไปใช้ ในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ ของประเทศ ใน 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อยกับการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย 1) กลุ่มโรคระบบกล้ามเนื้อและปวดข้อ 2) กลุ่มอาการไข้หวัด/ไอ/เสมหะ/โควิด 19 3) กลุ่มอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ 4) กลุ่มอาการท้องผูก/ริดสีดวงทวารหนัก 5) กลุ่มอาการวิงเวียน/คลื่นไส้ อาเจียน 6) กลุ่มอาการทางผิวหนัง/แผล 7) กลุ่มอาการชาจากอัมพฤกษ์ - อัมพาต 8) กลุ่มอาการนอนไม่หลับ 9) กลุ่มอาการท้องเสีย 10) กลุ่มอาการเบื่ออาหาร ตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้ยาสมุนไพรในระบบสุขภาพบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ภายใน 5 ปี
นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนา มีการสนับสนุนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และความปลอดภัย รวมทั้งวิจัยด้านประสิทธิภาพของยาจากสมุนไพรที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการศึกษาควบคุมคุณภาพสมุนไพร เพื่อสร้างฐานข้อมูลของสมุนไพร ยาสมุนไพร ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสมุนไพร พัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร พัฒนาจัดทำตำรายาสมุนไพรของประเทศ (Thai Herbal Pharmacopoeia/THP) เพื่อเป็นข้อกำหนดมาตรฐานคุณภาพ วัตถุดิบ สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในท้องตลาด ใช้สำหรับอ้างอิงสำหรับการขึ้นทะเบียนยาสมุนไพร การควบคุมคุณภาพยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากลทั้งการผลิตยาเพื่อใช้ในประเทศและเพิ่มมูลค่าการส่งออก ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา