X
“ดาวเสาร์” หวนคืนบัลลังก์ “ราชาแห่งดวงจันทร์บริวาร” รวมทั้งหมด 145 ดวง

“ดาวเสาร์” หวนคืนบัลลังก์ “ราชาแห่งดวงจันทร์บริวาร” รวมทั้งหมด 145 ดวง

23 พ.ค. 2566
1160 views
ขนาดตัวอักษร

นักดาราศาสตร์ค้นพบดวงจันทร์รอบดาวเสาร์เพิ่มอีก 62 ดวง จากที่สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) รับรองอยู่แล้ว 83 ดวง ทำให้จำนวนดวงจันทร์ทั้งหมดของดาวเสาร์จะเพิ่มมาเป็น 145 ดวง หวนคืนบัลลกังก์ “ราชาแห่งดวงจันทร์บริวาร” แซงหน้าดาวพฤหัสบดี และกลายเป็นดาวเคราะห์ดวงแรกที่มีดวงจันทร์บริวารเกิน 100 ดวง!


ภาพจาก : NASA

    การค้นพบกลุ่มดวงจันทร์ของดาวเสาร์ครั้งนี้เป็นผลงานของกลุ่มนักวิจัยที่นำโดย Edward Ashton นักวิจัยหลังปริญญาเอก ณ สถาบันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์จีนในไต้หวัน ที่ใช้เทคนิค “shift & stack” (เลื่อนภาพและซ้อนภาพ) เพื่อตรวจหาดวงจันทร์ขนาดเล็กและจางมากรอบดาวเสาร์

    เทคนิคนี้ใช้ชุดข้อมูลภาพที่เลื่อนมุมมองของบริเวณที่สนใจในอัตราเดียวกับการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ เพื่อให้ตรวจจับดวงจันทร์เล็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยการซ้อนภาพหลายภาพทำให้ดวงจันทร์สว่างขึ้น และดาวฤกษ์พื้นหลังเป็นวัตถุที่เลื่อนตำแหน่ง ขณะที่ดวงจันทร์จะปรากฏนิ่งเพราะเลื่อนมุมมองภาพตาม

    นักดาราศาสตร์เคยใช้เทคนิคนี้ตรวจหาดวงจันทร์รอบดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน แต่การค้นพบครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ใช้เทคนิค “shift & stack” กับดาวเสาร์ ข้อมูลที่ใช้ในการตรวจหาดวงจันทร์ของดาวเสาร์ครั้งนี้มาจากข้อมูลภาพถ่ายในช่วง พ.ศ. 2562 - 2564 โดยกล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย (CFHT) บนยอดเขาเมานาเคอาในเกาะฮาวาย ที่ใช้เวลาสังเกตการณ์รวมกัน 3 ชั่วโมง ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถค้นพบดวงจันทร์ขนาดเล็กได้มากถึง 62 ดวง ดวงที่เล็กที่สุดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2.5 กิโลเมตร


ภาพจาก : https://skyandtelescope.org/astronomy-news/new-observations-double-saturns-irregular-moons/

    ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่ค้นพบใหม่กลุ่มนี้ ถูกจัดประเภทเป็น “กลุ่มดวงจันทร์ผิดปกติ” (irregular moons) ซึ่งเป็นกลุ่มวัตถุขนาดเล็กที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าถูกจับเข้ามาเป็นบริวารโดยแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์ จึงมีวงโคจรขนาดใหญ่ รูปร่างรีมาก และมีระนาบเอียงจากวงโคจรของกลุ่มดวงจันทร์ปกติ (regular moons) ไปมาก ดวงจันทร์สมาชิกในแต่ละกลุ่มจะถูกตั้งชื่อตามเทพปกรณัมที่แตกต่างกันไป กลุ่มดวงจันทร์ที่ค้นพบใหม่ 62 ดวง มี 3 ดวงอยู่ในกลุ่มอินูอิต ส่วนที่เหลืออยู่ในกลุ่มนอร์ส

    ทีมนักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการค้นพบนี้คาดว่า ดวงจันทร์ขนาดจิ๋วที่มีทิศทางการโคจรสวนกับการหมุนรอบตัวเองของดาวเสาร์เหล่านี้ เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงการพุ่งชนระหว่างดวงจันทร์เมื่อราว 100 ล้านปีที่แล้ว และน่าจะเป็นต้นกำเนิดของดวงจันทร์กลุ่มนอร์สทั้งหมด ซึ่งดาวเคราะห์แก๊สยักษ์เพื่อนบ้านอย่างดาวพฤหัสบดีเคยขึ้นมาครองตำแหน่ง “ราชาแห่งดวงจันทร์บริวาร” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เมื่อนักดาราศาสตร์ค้นพบดวงจันทร์ใหม่เพิ่ม 12 ดวง จนทำให้จำนวนดวงจันทร์ทั้งหมดของดาวพฤหัสบดีอยู่ที่ 92 ดวง

ขอบคุณข้อมูลจาก

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)