X
รู้จักรอมฎอน ทำไมมุสลิมต้องถือศีลอด

รู้จักรอมฎอน ทำไมมุสลิมต้องถือศีลอด

13 มี.ค. 2567
17730 views
ขนาดตัวอักษร

13 มี.ค. 67 - รอมฎอนเป็นเดือนที่ 9 ของเดือนอาหรับทั้งหมด 12 เดือน แต่เดือนนี้มีความแตกต่างจากเดือนอื่น กล่าวคือ พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดเดือนนี้ให้เป็นเดือนแห่งการประกอบอิบาดะห์ อิบาดะห์ประการสำคัญที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ทรงกำหนดให้มีการปฏิบัติในเดือนนี้คือ “การถือศีลอด” หลังจากที่มุสลิมได้รับประทานอาหาร ได้ดื่มเครื่องดื่มอย่างอิ่มหนำสำราญเป็นเวลา 11 เดือน เพื่อให้มุสลิมได้รู้จักจำกัด ควบคุมตัวเองในการรับประทานอาหาร ไม่ให้รับประทานอาหารจนอิ่มแปล้ เกินขนาด ตามความต้องการของปาก เพื่อให้กระเพาะได้มีโอกาสพักผ่อนหลังจากที่ได้ทำงานหนักมาเกือบจะตลอดปี 


โดยให้ได้ลิ้มรสความหิวโหย เพื่อเขาจะได้พิเคราะห์ดูสภาพของคนยากจนขัดสน ว่าขณะที่เขามีความหิวกระหายเขาจะมีสภาพเช่นไรและทบทวนดูตัวเขาเองว่า เขามีจิตเมตตา มีความสงสาร มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากน้อยเพียงใด และเพื่อให้มุสลิมได้ใช้เวลา 1 เดือนนี้ สะสมความดีด้วยการละหมาด อ่านอัลกุรอาน ทำการซิกรุลลอฮ์ (การทำทุกอิริยาบถรำลึกถึงอัลลอฮฺ)  ฝึกจิตใจให้มุ่งสู่อัลลอฮ์ โดยทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ทะเยอทะยานอยากได้ในทรัพย์สิน ยศถาบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียง การสรรเสริญเยินยอจากผู้อื่น การมีอำนาจ การมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการบริวารแวดล้อม และบารมี ไม่โอ้อวดความมั่งมี ความยิ่งใหญ่ ความเก่งกาจ ความสวยงาม ความใคร่ในตัณหาอารมณ์ ระงับจิตใจไม่ให้โลภโกรธ หลง


การถือศีลอด หรือ อัซ เซาม์ อัซซิยาม ตามศาสนบัญญัติ หมายถึง ระงับการกิน การดื่ม การเสพย์สุขทางเพศ ตั้งแต่ แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยมีเจตนาปฏิบัติเพื่อเป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ 

การถือศีลอดในอดีตมีความแตกต่างกัน บางทีการถือศีลอดจะเป็นเพียงการระงับคำพูด บางทีก็เป็นเพียงการงบรับประทานอาหารบางอย่าง บางทีก็เป็นเพียงการงดการกินการดื่มในช่วงหนึ่งของเวลากลางวัน เป็นต้น


การถือศีลอดเป็นหลักการที่มีอยู่ในประชาชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวอียิปต์โบราณ กรีก โรมัน อัลลอฮ์ได้ทรงใช้ให้นางมัรยัม (พระแม่มารี) ถือศีลอดโดยการระงับคำพูดเมื่อมีผู้มาถามนางเกี่ยวกับการเกิดของนบีอีซา (พระเยซู) อลัยอิสลาม บุตรของนาง นบีซาการียา ได้ถือศีลอดโดยระงับคำพูด เมื่อท่านได้รับการบอกข่าวดีว่า จะมีบุตรชื่อ นบียะห์ยา

ชาวอาหรับโบราณถือศีลอด 3 วันทุกเดือนและได้ถือศีลอดในวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม (วันอาซูรอ) ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยที่อดอาหาร เพื่อฝึกจิตใจให้มีความเข้มแข็ง มีเจตนาที่แน่วแน่ มั่นคง บรรดาผู้บูชาดวงดาวจะถือศีลอด 30 วัน โดยการงดการกินการดื่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า พวกมาโนก็ถือศีลอด 30 วันใน 1 ปี


การถือศีลอดที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดคือ การถือศีลอดที่ยิ่งใหญ่ก่อนวัน “อีดุลฟิสห์” ในศาสนายิว เรียกว่า “วันพาสโซเวอร์” (Passover) คือวันระลึกถึงการที่ชาวยิวได้ออกเดินทางอพยพจากอียิปต์ ในศาสนาคริสต์เรียกว่า “วันอิสเตอร์” (Easter) คือวันที่ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูฟื้นคืนชีพขึ้นจากหลุมศพ” นบีมูซา ก็ได้ถือศีลอดในวันพาสโวเวอร์นี้

การถือศีลอดนี้มีความแตกต่างกันตามแต่ละนิกาย บางนิกายจะถือศีลอดโดยไม่รับประทานเนื้อ บางนิกายไม่รับประทานปลา บางนิกายไม่รับประทานไข่และนม

การถือศีลอดตามบัญญัติของชนรุ่นก่อน อาทิเช่น การถือศีลอดของชาวยิว พวกเขาจะรับประทานอาหารในวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเพียงครั้งเดียว ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโดยการถือศีลอดตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเที่ยงวัน”


บางชนชาติถือศีลอดเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง การอักเสบของผิวหนัง ท้องผูก อาหารไม่ย่อย ลดน้ำหนัก ขับสารพิษออกจากร่างกาย ผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น

การถือศีลอดเป็นหลักประการหนึ่งของหลักอิสลาม 5 ประการ บุคคลจะไม่เป็นมุสลิมอย่างสมบูรณ์จนกว่าเขาจะยอมรับและปฏิบัติตามบัญญัติประการนี้ 


สิ่งที่ควรปฏิบัติในการถือศีลอด


รับประทานอาหารซุโฮร์ให้ใกล้หมดเวลา และรีบแก้ศีลอดเมื่อเข้าเวลา

ไม่พูดนินทา ไม่คิดร้าย ทำใจให้สงบ อ่านอัลกุรอ่าน

เคี้ยวอาหารช้า ๆ ห้าสิบครั้งต่อคำ ควรทานอาหารไม่อิ่มแน่นมาก

ดื่มน้ำสะอาด หลังรับประทานอาหาร

รับประทานอาหารเหมือนปกติ ไม่ควรเพิ่มอาหารมาก

เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

ไปละหมาดตะรอเวียะฮ์ (การละหมาดในเดือนรอมฏอน) ทุกๆ วัน อย่างช้า ๆ ไม่รีบ

แบ่งปันอาหารให้ผู้ที่ถือศีลอด

พยายามเลิกสิ่งเสพติดต่าง ๆ เช่น บุหรี่ ชา กาแฟ 

ควรตรวจร่างกายก่อนเข้าเดือนรอมฎอน และหลังจากสิ้นเดือนรอมฎอน


ข้อห้ามที่ไม่ควรปฏิบัติ ในช่วงเวลากลางวัน มีดังนี้


ห้ามรับประทานหรือดื่ม รวมทั้งการสูบบุหรี่ด้วยโดยเจตนา

ห้ามร่วมประเวณี หรือทำให้อสุจิออกมาโดยเจตนา

ห้ามทำให้อาเจียนโดยเจตนา

ห้ามเอาสิ่งใดเข้าไปจนลึกเกินบริเวณภายนอกในอวัยวะที่เป็นรู เช่น ปาก จมูก โดยเจตนา

ดูแลใส่ใจสุขภาพ "ช่วงถือศีลอด"


ผู้ที่ถือศีลอดและมีความเข้าใจในเจตนารมณ์ในการถือศีลอด เขาจะไม่พูดปด จะไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่บิดพลิ้ว ไม่ผิดสัญญา ไม่โอ้อวด ไม่หลอกลวง ไม่กลับกลอก ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่พูดจาหยาบคาย ด่าทอ เสียดสี ไม่สอดรู้ และจะไม่พูดสิ่งใดนอกจากความจริง หลีกเลี่ยงการนินทา เขาจะสำรวม มือ ลิ้น เท้า ตา หู จะไม่หยิบฉวยสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิ จะไม่พูดจา และลิ้มรสสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้าม จะไม่เดินสู่หนทางแห่งอบายมุข และความชั่วช้า จะไม่มองดูสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้าม และไม่รับฟังสิ่งอัปยศ เขาดำรงตนอยู่กับการทำความดี มีความสัจจริง ซื่อสัตย์ต่อสัญญา มีความสุจริตใจ มีความอดทน ต่ออุปสรรคและความทุกข์ยาก และไม่ตกเป็นทาสแห่งตัณหา


เดือนรอมฏอน นับว่ามีความสำคัญ ตามบัญญัติของศาสนา 1 ใน 5 ของอิสลาม หรือเรียกว่า "การถือบวช" คล้ายกับการถือศีล 5 ของชาวพุทธ แต่ศีลอดของอิสลามนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ มุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะแล้ว จำเป็นต้องปฏิบัติศีลนี้อย่างเคร่งครัด ยกเว้นผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนชรา หญิงมีครรภ์ เด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี


ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักจุฬาราชมนตรี


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)