X
เปิดวิธีดูแลป้องกันเด็กๆจากฝุ่น PM2.5

เปิดวิธีดูแลป้องกันเด็กๆจากฝุ่น PM2.5

3 ก.พ. 2566
250 views
ขนาดตัวอักษร

ช่วงนี้ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลับมาเข้าข่ายมีผลต่อสุขภาพอีกครั้ง ลำพังผู้ใหญ่เองเมื่อได้รับผลกระทบจากฝุ่น ยังเจอปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ผื่นคัน ผื่นแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ แต่ในเด็กเล็กเองที่ระบบภูมิคุ้มกันยังเจริญไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเท่าผู้ใหญ่ BackboneMCOT เลยขอพาไปดูวิธีปกป้องเด็กๆ จากฝุ่น PM2.5 กัน


สำหรับเด็ก ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวันคือ คือ ระดับ AQI มากกว่า 100 หรือ PM2.5 มากกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ส่วนเด็กที่มีปัญหาทางระบบหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และโรคหัวใจ ระดับคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและกิจกรรมในชีวิตประจำวันคือ ระดับ AQI มากกว่า 50 หรือ PM 2.5 มากกว่า 37 มคก./ลบ.ม.


เมื่อเด็กได้รับฝุ่นละอองในปริมาณเกินมาตรฐานมาก หรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง เกิดหลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด เกิดจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งมลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ มลภาวะขนาดเล็ก ประกอบไปด้วยสารพิษต่างๆ เช่น โลหะหนัก ทำให้เกิดการระคายเคืองในโพรงจมูก และทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบและหายใจไม่สะดวก การหายใจเอาฝุ่นละออง มลภาวะจำนวนมากเข้าไปในปอดทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลัน ที่หลอดลมจนมีอาการไอและเสมหะมากขึ้น และเมื่อภูมิต้านทานของหลอดลมลดลงจะทำให้เด็กเล็กเกิดการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ง่าย


แนวทางการปฏิบัติ สำหรับผู้ปกครอง ในการช่วยเด็กๆป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในกลุ่มปฐมวัย ได้แก่

1. ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลควรติดตามสถานการณ์ PM2.5 หรือติดตามข่าวสารตามช่องทางต่างๆ

2. ควรดูแลเด็กให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงที่ PM2.5อยู่ในระดับ 26-37 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป

3. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารครบ 5 หมู่ และผักผลไม้5 สีเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และควรให้เด็กดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 8-10 แก้วต่อวัน และนอนหลับให้เพียงพอ 9-11 ชั่วโมง/วัน

4. ควรดูแลเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ให้รีบพาไปพบแพทย์

5. ควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน

6. ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง ปิ้งย่างที่ทำให้เกิดควัน การเผาใบไม้ เผาขยะ เป็นต้น

7. ไม่จอดรถ และติดเครื่องยนต์เป็นเวลานานในบริเวณบ้าน

8. ปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ

9. จัดหาหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่เหมาะสำหรับเด็กไว้ที่บ้าน

10. หลีกเลี่ยงหรืองดพาบุตรหลานไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน

11. สังเกตอาการบุตรหลาน หากมีอาการไอจามผิดปกติ น้ำมูกไหล หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

12. ก่อนออกนอกบ้าน ผู้ปกครองควรให้เด็กสวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเสมอ ทั้งนี้ไม่ควรเปิดประตูหน้าต่างรถ เพราะจะทำให้เด็กสัมผัสกับฝุ่นละออง


ส่วน ทารกในครรภ์มารดา มีการเจริญเติบโตและอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด และสมอง การได้รับมลพิษในช่วงนี้อาจส่งผลระยะยาวต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงมลพิษเป็นพิเศษโดยเฉพาะหญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน


ที่มา : 

กรมอนามัย

แถลงการณ์จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืดและวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย เรื่อง มลพิษ PM2.5 ต่อสุขภาพเด็กและทารกในครรภ์


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล