24 ก.พ.66 - GISTDA เตือนชาวเมืองกาญฯ อาจต้องเตรียมรับมือ PM2.5 หลังดาวเทียมตรวจพบพื้นที่เผาไหม้กว่า7,000 ไร่ เหนือเขื่อนศรีนครินทร์ ขณะที่จุดความร้อนทั่วประเทศทะลุ 2,200 จุด
ชาวเมืองกาญจนบุรี ต้องฟังทางนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA แจ้งเตือนปัญหาหมอกควัน หลังภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 (เซนตินอล 2) เผยแพร่ภาพบริเวณพื้นที่ที่กำลังเกิดการเผาไหม้และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากการเผาไหม้ บริเวณเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์2566
•
สอดคล้องกับข้อมูลจุดความร้อนที่ได้จากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ในวันเดียวกัน ทั้งนี้ จากการประมาณการพื้นที่ความเสียหายอยู่ที่ประมาณกว่า 7,000 ไร่ โดนอยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหายในพื้นที่ต่อไป อย่างไรก็ตามเตือนประชาชนในพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียงต้องระวังปัญหามลพิษจากหมอกควันที่เผาไหม้ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในระยะนี้ด้วย
GISTDA ยังได้แสดงข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ไทยพบจุดความร้อนวานนี้ (23 ก.พ. 2566) จำนวน 2,269 จุด ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ยังครองอันดับหนึ่งอยู่ที่ 3,142 จุด รองลงมาคือกัมพูชา 2,514 จุด, สปป.ลาว 1,582 จุด, เวียดนาม 371 จุดและมาเลเซีย 19 จุด
•
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,016 จุด, พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 633 จุด, พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 239 จุด, พื้นที่เกษตร 217 จุด, พื้นที่เขต สปก. 144 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 20 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 5 อันดับ คือ
1.กาญจนบุรี 357 จุด
2.ตาก 182 จุด
3.อุตรดิตถ์ 136 จุด
4.ชัยภูมิ 135 จุด
5.กำแพงเพชร 114 จุด
•
ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 10.00 น. พบว่าในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ อำนาญเจริญ, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, นครพนม อยู่ระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ รวมถึงพื้นที่ของกรุงเทพมหานครด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่อาจจะตามมา
•
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
•
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th และควรติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น”