X
ตักบาตรดอกไม้ ย้อนปูม 70 ปี สระบุรีสู่.. วัดบวรนิเวศวิหาร ปีนี้ 2565 “งด”

ตักบาตรดอกไม้ ย้อนปูม 70 ปี สระบุรีสู่.. วัดบวรนิเวศวิหาร ปีนี้ 2565 “งด”

12 ก.ค. 2565
1630 views
ขนาดตัวอักษร

เป็นอีกหนึ่งปี (2565) ที่..วัดบวรนิเวศวิหาร “งด” การตักบาตรดอกไม้ ติดต่อกันมา 3 ปีซ้อน ด้วยความห่วงใยพุทธศาสนิกชน ในสถานการณ์ การระบาดโรคโควิด 19 โดยเฉพาะในช่วงนี้ สายพันธุ์ย่อยโอไมครอน กำลังจะระบาดระลอกใหม่ ทางเฟซบุ๊กของ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้โพสต์ประกาศ งดกิจกรรมตักบาตรดอกไม้ อีกครั้งให้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลย้อนปูมกว่า 70 ปี ที่บอกเล่าถึง ประเพณีตักบาตรดอกไม้ รวมถึงข้อมูลจากภาพปก ที่หาชมยาก เมื่อปี พ.ศ. 2512 สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงรับบาตรดอกไม้



วัดบวรนิเวศวิหาร ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ประกาศว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน เพื่อเป็นการปฏิบัติตาม มาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัย และเว้นระยะห่างทางสังคม คณะกรรมการ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงมีมติให้ งดจัดกิจกรรมการตักบาตรดอกไม้ เนื่องในวันเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2565 (วันที่ 14 ก.ค. 2565)



นอกจากนี้ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เผยแพร่ข้อมูลในวันนี้ (12 ก.ค. 2565) อีกว่า วันอาสาฬหบูชา วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2565 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8)

ขอเชิญชวน พุทธศาสนิกชนทุกท่าน เข้าร่วมกิจกรรม ในวันอาสาฬหบูชา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ ร่วมกิจกรรม Online พร้อมกันจากบ้านของท่านผ่านทาง Facebook : วัดบวรนิเวศวิหาร โดยพร้อมเพรียงกัน

เวลา 09.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์

เวลา 19.00 น. พระภิกษุสามเณร ประชุมกันที่พระอุโบสถ ทำวัตรค่ำ สวดมนต์ - เวียนเทียน และแสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์



สำหรับการ “งด” กิจกรรมตักบาตรดอกไม้ วัดบวรนิเวศวิหาร นั้น ทุกปีทางวัดฯ จะมีการโพสต์ประกาศแจ้งไว้ในเพจฯ ทุกครั้ง
ซึ่งเมื่อรวมปีนี้ (2565) Backbone MCOT ค้นหาข้อมูลย้อนไปได้ ถือเป็น 3 ปีติดต่อกัน ที่ได้มีการยกเว้นกิจกรรมดังกล่าว (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 - 2565) แต่หากย้อนเรื่องราวของ ประเพณี ตักบาตรดอกไม้ เพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาทำบุญ ในกิจกรรมดังกล่าว ทางเฟซบุ๊กของ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็มีเรื่องนี้ ให้ได้อ่านย้อนปูมกันไปได้กว่า 70 ปี

โดย ประเพณี ตักบาตรดอกไม้ ในเฟซบุ๊กของ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้โพสต์ไว้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 (เป็นเดือน วันเข้าพรรษา ของปีที่ผ่านมา) ซึ่งได้อ้างอิงข้อมูลไปถึง เพจเฟซบุ๊ก เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ ที่ได้โพสต์ข้อมูลไว้ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ในบทความ เรื่อง ตักบาตรดอกไม้ : มองต่างมุม ในพุทธประเพณี ในวันเข้าพรรษา มีเนื้อหาบทความ ดังนี้

ในวันเข้าพรรษาของทุกปี วัดพระพุทธบาท สระบุรี จะจัดให้มีประเพณี ตักบาตรดอกไม้  ต่อมาภายหลังธรรมเนียมนี้ แพร่หลายเข้าใน วัดธรรมยุติกนิกายสำคัญ ๆ หลายวัด เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดราชประดิษฐ์, วัดราชบพิธ, วัดเทพศิรินทราวาส และวัดตรีทศเทพ เป็นต้น



ประเพณี ตักบาตรดอกไม้ ที่ปรากฏในวัดธรรมยุตนั้น นับเป็นประเพณีเก่าแก่ แม้จะไม่มีหลักฐาน บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัด หากแต่ปรากฏเป็นภาพถ่ายเก่า เช่น ภาพถ่ายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ ที่พระสาสนโสภณทรงรับบาตรดอกไม้เมื่อปี พ.ศ. 2512 หรือ ภาพถ่ายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) รับบาตร ณ วัดเทพศิรินทราวาส แม้ไม่ปรากฏอายุของภาพที่แน่ชัด แต่ย่อมเป็นภาพถ่ายก่อนปี พ.ศ.2494 อันเป็นปีที่ สมเด็จฯ มรณภาพเป็นแน่ ดังจะเห็นได้ว่า ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ของคณะธรรมยุตนั้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 70 ปีเลยทีเดียว

แล้ว “ประเพณีตักบาตรดอกไม้” มีที่มาที่ไปอย่างไร

ส่วนหนึ่ง มักกล่าวถึง “ดอกเข้าพรรษา” ที่มักจะบานในช่วงหน้าฝน แล้วชาวบ้านแถวพระพุทธบาท ก็จะเก็บดอกไม้นี้ ไปใส่บาตรพระ ในวันเข้าพรรษา ดอกไม้ประเภทนี้ นับเป็นดอกไม้พื้นถิ่น ตระกูลขิง-ข่า ที่มักผลิดอกบานในช่วงหน้าฝน เมื่อมีการนำดอกไม้ประเภทนี้ มาถวายพระ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ดอกไม้ จึงมีนามว่า “ดอกเข้าพรรษา” ไปด้วย

นอกจากนี้ “ดอกเข้าพรรษา” ยังเป็นที่นิยม นำไปถวายสักการะพุทธสถาน ของพุทธศาสนิกชน ในประเทศพม่าด้วยเช่นกัน หากแต่วัดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ นั้น มิได้ใส่ “ดอกเข้าพรรษา” แล้วทำไม จึงมีตักบาตรดอกไม้



ประการหนึ่ง ที่มักอ้างกัน ตามค้นคว้าของศาสตราจารย์ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ ที่อ้างถึงเหตุการณ์ พุทธประวัติ ที่ปรากฏใน คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท กล่าวถึง นายสุมนมาลาการ เก็บดอกไม้ จะไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร แต่เจอพระพุทธเจ้า กำลังบิณฑบาตก่อน แล้วสังเกตเห็นฉัพพรรณรังสี รายรอบพระวรกาย จึงศรัทธา และเห็นว่า อานิสงส์ของการถวายทาน แต่พระพุทธเจ้า ย่อมมีมากกว่า (เหตุการณ์นี้ เหมือนกับ นายคัณฑะ ถวายมะม่วง ในยมกปาฏิหาริย์เลย เพียงแต่เปลี่ยนตัวละคร และของถวาย) จึงโยนดอกไม้ไป ดอกไม้ดาดกลายเป็นเพดานดาด เหนือพระพุทธเจ้า กั้นแสงแดด โยนไปอีกกำ ก็กลายแพดาดเบื้องพระปฤษฎางค์ โยนไปอีกกำหนึ่ง ก็ดาดเป็นแพเบื้องซ้ายบ้างเบื้องขวาบ้าง เหลือเพียงเบื้องหน้า ให้เป็นที่เสด็จดำเนิน ตำนานนี้ เป็นที่กล่าวอ้างถึงกันอยู่ทั่วไป แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานแน่ชัดว่า ถูกต้องจริงหรือไม่ มีเพียงความสัมพันธ์ ที่พระพุทธเจ้า เสด็จออกบิณฑบาต และมีการถวายดอกไม้เท่านั้น

ประการที่สอง คือ ดอกไม้นั้น มีความสัมพันธ์กับพระสงฆ์ ดังที่ปรากฏในพระวินัยว่า เมื่อคฤหัสถ์ บวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์นั้น ก็เหมือนดอกไม้หลายสายพันธุ์ ที่กองอยู่บนพื้น หากไม่มีด้ายร้อยเข้าไว้ด้วยกัน ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้ง่าย  แต่หากดอกไม้นั้น มีด้ายร้อยติดกันไว้ ลมย่อมพัดให้กระจัดกระจายได้โดยยาก ดอกไม้นั้น ก็อาจเป็นตัวแทนของ พระภิกษุสงฆ์ จะหลากหลายภูมิลำเนาก็เป็นได้

แต่ประการสำคัญ คือ การถวายดอกไม้แด่พระสงฆ์ ในเทศกาลตักบาตรดอกไม้นี้ ส่วนหนึ่งก็มุ่งหวัง ให้พระสงฆ์นำดอกไม้นั้น ไปสักการบูชาพุทธสถาน ในอารามของตน อันเป็นขนบธรรมเนียม “การทำสามีจิกรรม” ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา

ส่วนในประเด็นที่ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ แพร่หลายในวัดธรรมยุตนั้น ข้าพเจ้าสันนิษฐาน ว่า อาจจะมีความสัมพันธ์กับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสอบทานพระไตรปิฎก ให้ตรงตามพุทธคัมภีร์ อันมาจากแต่ลังกาทวีป พุทธศิลป์อย่างพระราชนิยม ก็ได้รับอิทธิพลจากพุทธศิลป์ลังกา และหากเราเชื่อว่า คติการบูชา รอยพระพุทธบาท บนยอดเขา ที่พระพุทธบาทสระบุรีนั้น เสมอด้วยรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาสมณกูฏ ของลังกาฉันใด ขนบธรรมเนียมการสักการะ ก็ย่อมส่งถ่ายมาใน วัดธรรมยุตได้โดยไม่ยาก

(ศรัณย์ มะกรูดอินทร์ เรียบเรียง)


และจากข้อมูลชุดเรื่องเล่า เกี่ยวกับ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ที่ส่งผ่านมาถึง วัดบวรนิเวศวิหาร ที่...ทีมงาน Backbone MCOT ได้ค้นหา และได้รับความรู้มากมายในเรื่องนี้ และยังมีอีกหลายบทความที่น่าสนใจ ซึ่งเพจน้ำดีแบบนี้ Backbone MCOT ขอแนะนำกับเฟซบุ๊ก เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ @Bowonniwet เพจที่ให้ข้อมูลเนื้อหา ที่เป็นความรู้เชิงลึก และมีภาพที่น่าสนใจเรียนรู้ รวมถึงภาพเก่าที่หาชมยาก ซึ่งไม่ควรพลาดติดตาม



สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงนำดอกไม้ ที่ทรงรับในประเพณี ตักบาตรดอกไม้นั้น มาสักการะพระพุทธชินสีห์


จากคำว่า “สามีจิกรรม” ที่มีกล่าวไว้ในบทความ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ มีที่มาที่ไปอย่างไร หลายท่านอาจเกิดความสงสัย ใคร่รู้ ว่า คืออะไร ... Backbone MCOT มีข้อมูลเกี่ยวกับ ความหมายของคำที่ว่านี้ จากวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ซึ่งได้เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของวัดฯ โดยขออนุญาตคัดลอกข้อมูล ความหมายในที่นี้ มาอธิบายให้คลายสงสัย คำว่า “สามีจิกรรม” คืออะไร ?

การทำพิธีสามีจิกรรม เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่ภิกษุ - สามเณร จะพึงทำความชอบต่อกัน เพื่อความสมานสามัคคีกัน อยู่ร่วมกันโดยสงบสุข การทำความชอบต่อกันนี้ เรียกว่า สามีจิกรรม หมายถึง การแสดงความเคารพ การขอขมาโทษกัน การให้อภัยกัน มักจะทำในโอกาสต่าง ๆ คือ

1. ในวันเข้าพรรษา
2. ในวันก่อน และ หลังเข้าพรรษา 7 วัน
3. ในโอกาส ที่จะไปอยู่วัดอื่น หรือ ที่อื่น


สามีจิกรรม มีอยู่ 2 แบบ คือ

1. การทำสามีจิกรรม แบบขอขมาโทษ
2. การทำสามีจิกรรม แบบถวายสักการะ


อ่านเพิ่มเติมรายละเอียด คลิกได้ที่นี่ > (พิธีทำสามีจิกรรม พระพรหมบัณฑิตฯ)



ปิดท้าย มีภาพความงดงามของ “ดอกเข้าพรรษา” หรือ ดอกไม้ตระกูลขิงข่า ที่หาชมยาก ซึ่งมาจากเฟซบุ๊ก หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF เป็นกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์บอกเล่าข้อมูล เผยแพร่ไว้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ระบุถึงดอกไม้ชนิดนี้ ชื่อว่า

กาหลาถ้วย (Etlingera venusta) พืชวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) อยู่ในสกุลเดียวกับ กาหลา / ดาหลา พืชสกุลกาหลา เป็นพืชวงศ์ขิงข่า ที่พบมากหลากหลายชนิดที่สุด ในป่าแบบมาเลเซีย

กาหลาถ้วย มีกลีบดอกที่ม้วนกลับ และการไล่โทนสีหวาน สวยกันคนละแบบกับกาหลา


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : วัดบวรนิเวศวิหาร @WatBovoranivesVihara
https://www.facebook.com/WatBovoranivesVihara

เฟซบุ๊ก : เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ @Bowonniwet
https://www.facebook.com/Bowonniwet

เว็บไซต์ : วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
https://www.watprayoon.com

เฟซบุ๊ก : หอพรรณไม้ Forest Herbarium - BKF
กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

https://www.facebook.com/ForestHerbarium



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)