21 ส.ค.64 - หากใครเคยไปเที่ยวเมืองประวัติศาสตร์ จ.พระนครศรีอยุธยา จะพบว่าที่นี่เต็มไปด้วยโบราณสถานและวัดเก่าแก่มากมาย หนึ่งในนั้นคือวัดแม่นางปลื้ม หนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ห้ามพลาด! ด้วยวัดแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงวัดเก่าแก่เท่านั้น แต่ยังมีประวัติที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับพระนเรศฯ บูรพมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงยกย่องหญิงชราชาวบ้านคนหนึ่งให้เป็น “แม่” มาติดตามเรื่องราวนี้ไปพร้อมกันเลยครับ
ตามเส้นทางประวัติศาสตร์ เมืองมรดกโลก พระนครศรีอยุธยา หากเดินทางตามเส้นคลองเมือง ตรงข้ามหัวรอจ.พระนครศรีอยุธยา จะไปถึงหมายปลายทาง ณ วัดสำคัญอีกแห่งของเมืองเก่าแห่งนี้ “วัดแม่นางปลื้ม”
วัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ ที่ผู้คนนิยมเดินทางไปเที่ยวชมไม่ขาดสาย ด้วยความงดงามทางโบราณสถานที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีอุโบสถเก่าแก่ตั้งอยู่ และยังมีหลวงพ่อขาวที่ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในอุโบสถอีกด้วย
.
นอกจากนี้ยังมีความงดงามทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ที่หาชมได้ยากของเจดีย์ทรงระฆังคว่ำที่มีสิงห์ล้อม ตามข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า “วัดแม่นางปลื้ม” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เต็มไปด้วยตำนาน และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา
หนึ่งในนั้นคือ "ตำนานเกี่ยวกับประวัติของวัดแม่นางปลื้ม" ที่ผู้คนเล่าต่อกันมาว่า
.
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือพระองค์ดำ เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระองค์เสด็จล่องเรือไปตามแม่น้ำ ก็เกิดติดพายุฝนทำให้ไม่สามารถเสด็จกลับพระราชวังได้ในทันที
.
พระองค์เห็นแสงไฟจากบ้านหลังหนึ่งที่อยู่ติดริมแม่น้ำ จึงได้เสด็จไปขึ้นท่าน้ำบ้านเก่าหลังนั้นซึ่งเป็นบ้านของหญิงชราผู้ยากจนอาศัยอยู่คนเดียว และด้วยความที่พระองค์เป็นกษัตริย์นักรบ เสียงพูดของพระองค์จึงดังกว่าคนทั่วไป จนทำหญิงชราตกใจ และอ้อนวอนให้พระองค์เงียบเสียงลงด้วยเพราะกลัวว่าหากส่งเสียงดัง เสียงนั้นจะไปถึงหูของพระเจ้าแผ่นดินที่อาจจะผ่านมาเมื่อใดไม่ทราบได้
เมื่อรู้ดังนั้นสมเด็จพระนเรศฯ ก็ยิ่งเปล่งเสียงให้ดังขึ้นไปอีกอย่างไม่เกรงกลัวตามที่หญิงชราตักเตือนพร้อมตรัสว่า“หากพระเจ้าแผ่นดินผ่านมาได้ยินและต้องการจะลงอาญาเสียให้ถึงชีวิต ก็จะถือว่าเป็นคราวเคราะห์ของตัวเอง” แต่หญิงชราก็พยายามห้ามไม่ให้พระองค์กล่าววาจาก้าวล่วงพระเจ้าแผ่นดิน พร้อมทั้งยังกล่าวยกย่องเทิดทูนพระเจ้าแผ่นดินไว้เหนือหัวด้วยความจงรักภักดี ทำให้สมเด็จพระนเรศฯ ยอมลดเสียงลง
.
จากนั้นหญิงชราได้ดูแลหาผ้าแห้งมาให้พระองค์ได้ผลัดเปลี่ยน และจัดการฉลองพระองค์ที่เปียกฝนให้อย่างเรียบร้อยแต่แล้วสมเด็จพระนเรศฯ ก็ได้สร้างความตกใจให้แก่หญิงชราอีกครั้ง เมื่อพระองค์ขอดื่มสุราเพื่อแก้อาการหนาว
.
หญิงชราได้บอกพระองค์ทันทีว่า “ระยะนี้เป็นช่วงเข้าพรรษา การดื่มสุราเป็นเรื่องที่ผิด ไม่มีผู้ใดซื้อขายหรือดื่มสุรากันในช่วงนี้” หากพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบเข้า นางและพระองค์จะต้องโทษได้
.
สมเด็จพระนเรศฯ ยืนกรานจะดื่มน้ำจันทร์น้ำสุราให้ได้ และไม่เกรงกลัวพระราชอาญา จนหญิงชราคัดค้านไม่ไหวต้องยอมนำสุรารินใส่จอกมาให้พระองค์ ซึ่งหญิงชราได้อธิบายว่าซื้อสุรานี้มาไว้ตั้งแต่ยังไม่เข้าพรรษา และไม่ได้ดื่มอีกเลยนับตั้งแต่เข้าพรรษามา โดยกำชับไม่ให้บอกใครเรื่องที่นางนำสุรามาให้พระองค์ ซึ่งสมเด็จพระนเรศฯ ให้คำมั่นว่าจะไม่บอกกล่าวเรื่องนี้แก่ผู้ใดทั้งสิ้น
.
ตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองสนทนากัน หญิงชรากล่าวเรียกพระองค์ดำว่า “ลูก” ทุกคำด้วยความเมตตา แม้จะไม่เคยรู้จักหรือพบหน้ากันมาก่อน พระองค์เองก็ตรัสเรียกแทนพระองค์เองว่า “ลูก” เช่นกัน
เมื่อเสวยน้ำจันทร์และหลับไปที่บ้านของหญิงชราแล้ว ย่ำรุ่งพระองค์ก็เสด็จกลับพระบรมมหาราชวังพร้อมทหารองค์รักษ์ที่รอคอยอยู่ใกล้ ๆ บ้านของหญิงชรานั่นเอง
.
หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จพระนเรศฯ มีพระราชดำรัสให้ข้าราชบริพารจัดขบวนเรือหลวงซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งสำหรับพระราชชนนีหรือพระมเหสีใช้ในพระราชพิธี ไปยังบ้านของหญิงชรา ต่อมาทราบชื่อว่า “แม่ปลื้ม”
.
ก่อนที่จะประทานฉลองพระองค์ที่ใช้ในคืนนั้นมาด้วย เพื่อให้แม่ปลื้มจำพระองค์ได้ พร้อมสั่งให้มหาดเล็กเชิญตัวแม่ปลื้มไปเข้าเฝ้าในพระบรมมหาราชวัง
.
เมื่อนำตัวเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ พระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จมาจูงมือนางและตรัสว่า พระองค์คือบุคคลที่ไปอาศัยบ้านนางเมื่อคืนนี้ และนางได้ดูแลอย่างดี
.
ทรงตรัสว่า “ในยามยาก นางได้รับฉันเป็นลูกของนาง ดังนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ลูกก็จะเรียกนางว่าแม่ และจะรักยิ่งต่อไป”
.
สมเด็จพระนเรศฯ มีรับสั่งให้จัดที่อยู่ในพระราชวังให้หญิงชรา ดูแลปรนนิบัติอย่างดีดุจพระมารดาของพระองค์ จนกระทั่งนางได้สิ้นชีพลง พระองค์ทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงเช่นเดียวกับพระราชินี จากนั้นได้บูรณปฏิสังขรณ์ “วัดแม่นางปลื้ม” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่หญิงชรา หญิงชาวบ้านที่พระองค์ เรียกว่า “แม่”
ช่วง—เกร็ดความรู้ “โบราณสถานวัดแม่นางปลื้ม”
.
-เจดีย์ประธานของวัดแม่นางปลื้ม เป็นเจดีย์ทรงลังกาขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยม บนฐานทักษิณมีรูปสิงห์ปูนปั้นรายรอบอยู่ 36 ตัว เป็นหนึ่งในสองเจดีย์ฐานสิงห์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อีกแห่งหนึ่งคือเจดีย์วัดธรรมิกราช)
-เจดีย์ประธานวัดแม่นางปลื้มได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2543 และ ปี พ.ศ. 2556
-วิหารหลวงพ่อขาว อยู่ด้านหน้าของเจดีย์ประธาน ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐ สันนิษฐานว่าพระวิหารน่าจะได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากหน้าบันตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยจีนเป็นลายเครือเถา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธนิมิตรมงคลศรีรัตนไตรหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อขาว”
-หลวงพ่อขาวเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์ยิ้มแย้ม ลักษณะสมบูรณ์สง่างามมาก องค์พระเป็นสีขาวตลอดทั้งองค์ มีเพียงพระเกศาเท่านั้นที่เป็นสีดำ เชื่อว่าหลวงพ่อขาวสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1920 พร้อม ๆ กับวัดแม่นางปลื้ม
-วิหารแห่งนี้มีประตูตรงกลางที่เมื่อมองตรงทะลุประตูเข้าไปจะเห็นองค์หลวงพ่อขาวประดิษฐานอยู่ ทางวัดได้จัดวางพระพุทธรูป อาทิ พระพุทธรูปปางยืนอุ้มบาตร ปางห้ามสมุทร และพระสังกัจจายน์ เอาไว้ให้สาธุชนกราบสักการะ
-ประตูกลางแห่งนี้แต่เดิมเป็นประตูสำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จผ่านเข้าออก ขุนนางและประชาชนธรรมดาไม่อาจเดินผ่านได้
-วิหารและองค์หลวงพ่อขาวได้รับการบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2543 โดยกรมศิลปากรพร้อมกับการบูรณะเจดีย์ประธาน
-โบสถ์ของวัดแม่นางปลื้มเป็นโบสถ์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หน้าบันตกแต่งด้วยเครื่องถ้วย เช่นเดียวกับพระวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธมหาปิติเทวะนฤมิตปฏิมากรณ์ หรือ “หลวงพ่อปลื้ม” พระประธานของโบสถ์ โดยหลวงพ่อปลื้มนี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในมัยอยุธยาตอนต้นหรือเก่าแก่กว่านั้น
-ซุ้มประตูวัดแม่นางปลื้มเป็นซุ้มประตูวัดแบบโบราณให้อารมณ์ความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่ เมื่อก้าวล่วงเขตประตูเข้าไปยังส่วนของโบราณสถาน ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังผ่านประตูทะลุมิติไปยังอดีต เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คUNSEEN THAILAND
-ซุ้มประตูนี้ตั้งขึ้นตรงกับประตูกลางของวิหารหลวงพ่อขาวซึ่งมองทะลุไปยังองค์หลวงพ่อขาวได้
📍สำหรับใครที่ติดใจ และอยากติดตามเรื่องราวตำนานสมเด็จพระนเรศ สามารถติดตามชมซีรีส์ฟอร์มยักษ์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเดอะซีรีส์” ภาคองค์ประกันหงสา ได้ทาง ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 18.00 น.
ขอบคุณข้อมูลและภาพ :กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/3569