หลังประชุมพิจารณา 6 ชั่วโมง กสทช.อนุมัติ การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) เป็นการรวมธุรกิจรวมธุรกิจแบบมีเงื่อนไข คือ มีการกำหนดมาตรการคุมให้แพ็คเกจเน็ตบ้านราคาถูกสุดอยู่ต่อไปอีก 5 ปี โดยจะดึงองค์กรผู้บริโภคร่วม merger monitor ตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการ
แม้การรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) และราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ แต่ขอบเขตและระดับของผลกระทบไม่รุนแรง เพราะมีบริการทดแทนกันได้สูงจากบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่
การสำรวจข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคบริการโทรคมนาคมของผู้ใช้บริการทั่วประเทศโดยสำนักงาน กสทช. จำนวน 6,486 ตัวอย่าง พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 3 รายเท่านั้นที่ใช้บริการ Fixed Broadband เพียงอย่างเดียว ส่วนผู้ใช้บริการ Mobile Broadband เพียงอย่างเดียวมีจำนวน 642 ราย (ร้อยละ 10) และผู้ใช้บริการทั้ง Fixed Broadband และ Mobile Broadband มีจำนวน 5,730 ราย (ร้อยละ 90) ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่จึงมีน้อย เพราะสามารถแทนที่ด้วยบริการ Mobile Broadband ได้
ในแง่ของการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) นั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 13 ล้านราย ภายหลังการรวมธุรกิจจะมีจำนวนผู้ประกอบการลดลงจาก 4 รายใหญ่เหลือ 3 รายใหญ่ ซึ่งตลาดยังมี NT เป็นผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 16 และมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะร่วมมือกับอีกสองรายใหญ่ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงยังสร้างความกดดันในการแข่งขันได้
การศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของสำนักงาน กสทช. การศึกษาของที่ปรึกษา คือ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ (SCF Associates Ltd.) ที่เห็นตรงกันว่าการรวมธุรกิจครั้งนี้จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นต่อตลาด
จากรายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศ ภายหลังการรวมธุรกิจ ผู้รวมธุรกิจไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน นำไปสู่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น (Efficiency Gain) มูลค่าสูงสุดได้ถึง 10,000-15,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี
ทาง กสทช. จึงกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนในโครงข่าย Fixed Broadband Access ในพื้นที่ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำหรือพื้นที่ห่างไกล อันจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สุทธิ (Net Benefit) ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 88,690 ล้านบาทในช่วง 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.18 – 0.49 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาปัจจุบัน (Nominal GDP)
การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในการนำเงินไปลงทุนดังกล่าวข้างต้น จะทำให้โครงข่าย Fixed Broadband Access ขยายครอบคลุมมากขึ้นในพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำที่ยังไม่มีโครงข่ายในปัจจุบัน
สำหรับในเรื่องของการควบคุมราคานั้น ได้มีการกำหนดมาตรการเฉพาะกำหนดห้ามขึ้นราคาหรือลดคุณภาพบริการ และให้คงแพ็คเกจราคาต่ำสุดสำหรับอินเทอร์เน็ตประจำที่เป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ กำหนดให้มีอนุกรรมการทำหน้าที่เป็น merger monitor เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการขึ้นราคาจากผู้รวมธุรกิจเป็นเวลา 5 ปี โดยมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพ โทรคมนาคม
การจัดตั้งคณะอนุกรรมการ merger monitor ดังกล่าว มุ่งเน้นให้ติดตามตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะที่กำหนด โดยเป็นการถอดบทเรียนจากการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่บอร์ด กสทช. เคยพิจารณา ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม ในครั้งนี้จึงได้ออกแบบให้อนุกรรมการมีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย
การรวมกิจการ จะมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายสามารถเข้ามาใช้โครงข่ายของผู้ที่ขอรวมกิจการ โดยได้รับสิทธิเงื่อนไขในการเข้าใช้โครงข่ายได้เช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในพื้นที่เฉพาะในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศ โดยลดเงื่อนไขการเข้ามาประกอบกิจการผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่าย
ทั้งนี้ บอร์ดเสียงข้างมากยืนยันว่า การพิจารณาครั้งนี้ต้องเป็นการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตและไม่ใช่เพียงการรับทราบ
ตามกฎหมายแล้ว การรวมธุรกิจ AWN – TTTBB เข้าข่ายเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งระบุว่าจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ