จากสถิติการเสียชีวิตในเด็กของ สธ. จากเมื่อต้นปี 2565 เป็นต้นมา มีเด็กเสียชีวิต 51 ราย แพทย์ ชี้แม้ตัวเลขดูน้อย แต่น่าเป็นห่วงมาก ?... โดยเมื่อเจาะลึกตัวเลขการสูญเสีย พบว่า เป็นเด็กที่มีอายุ น้อยกว่า 5 ปี ที่มีโรคประจำตัว 19 ราย และเด็กที่แข็งแรงดีถึง 10 ราย ซึ่งการเสียชีวิตในเด็กแข็งแรงนี้ ทางการแพทย์ ไม่เป็นที่ยอมรับ และทำใจไม่ได้ และปัจจุบันนี้ ประเทศไทย ไม่มีวัคซีนให้เด็กกลุ่มนี้ ...ขณะที่ในหลายประเทศ เริ่มมีการฉีดวัคซีนให้เด็กเล็ก ที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ แนวโน้มการผลิตวัคซีนชนิดใหม่ ให้ตรงสายพันธุ์ คาดจะไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ เมื่อเทียบการลงทุนที่น้อยกว่า ในการพัฒนาประสิทธิภาพของยา ให้จำเพาะกับผู้ป่วย ที่น่าจะมีแนวโน้มมากขึ้น
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ ผ่านทางเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่า
โควิด-19 ในเด็ก ความสำคัญของโรค กับการป้องกัน ความรุนแรงของโรค covid-19 ในเด็ก
ในเด็ก ความรุนแรงของโรค จะน้อยกว่าผู้ที่มีอายุมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ความรุนแรงในเด็ก มักจะเป็นเด็กเล็ก โดยเฉพาะ อายุน้อยกว่า 5 ปี
หลังจากการระบาด สายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่ต้นมกราคมเป็นต้นมา ข้อมูลเบื้องต้นของ กระทรวงสาธารณสุข มีเด็กเสียชีวิต 51 ราย พบว่า 39 ราย อายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนอายุ 5 ปีขึ้นไป มีเพียง 12 ราย ในจำนวนนี้ เด็กปกติที่ไม่มีโรคประจำตัว และเสียชีวิตส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กเล็ก (ถึงแม้จะน้อยกว่า เด็กที่มีโรคประจำตัว ที่รายงานเบื้องต้น ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี 29 ราย มีโรคประจำตัว 19 ราย เป็นเด็กที่แข็งแรงดี 10 ราย) ในเด็กโต ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมด จะมีโรคประจำตัว
เมื่อดูอัตราการป่วยตาย จะพบว่า ในเด็กอายุเกิน 5 ปี อัตราการป่วยตาย จะอยู่ที่ 1 ในหมื่นที่ป่วย เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กเล็ก 0 - 4 ปี อัตราการป่วยตาย ในเด็กปกติ ที่ไม่มีโรคประจำตัว จะอยู่ที่ 3 ในหมื่นราย และเด็กที่มีโรคประจำตัว จะอยู่ที่ 5 ในหมื่นรายที่เป็น covid-19
ถึงแม้ดูตัวเลขที่ป่วย และเสียชีวิตในเด็ก จะมีจำนวนน้อย แต่ถ้าเป็นเด็กปกติแล้วเสียชีวิต โดยทั่วไป จะไม่เป็นที่ยอมรับ ยกตัวอย่าง เช่น ไข้เลือดออก อัตราการป่วยตาย ก็ไม่ได้มาก เหมือน covid-19 ในเด็ก แต่เด็กที่เสียชีวิต จะเป็นเด็กที่แข็งแรงดีมาก่อน เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยทั่วไป จึงไม่เป็นที่ยอมรับ และทำใจไม่ได้
covid-19 ในเด็ก ถ้ามองดูจากสถิติ จะเห็นความสำคัญของเด็ก ที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นอย่างมาก มีเด็กปกติแข็งแรงดี ต้องเสียชีวิตจากโควิด 19 จึงจำเป็น ที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เด็กกลุ่มดังกล่าวในประเทศไทย ปัจจุบันไม่มีวัคซีน ที่ให้ในเด็กกลุ่มนี้ เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง
วัคซีนในหลายประเทศ มีการฉีดให้ ตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่เป็นที่ยอมรับ จะเป็นวัคซีนเชื้อตาย มีความปลอดภัย และมีการเผยแพร่ในวารสาร Lancet
การตัดสินใจ จะเอาวัคซีนมาใช้ในเด็ก 3 - 5 ปี ในประเทศไทย ยังขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงาน เด็กถึงแม้ว่า จะติดเชื้อโควิด มีความรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ความสำคัญมีมากกว่า เพราะถ้าเกิดในเด็กปกติ ไม่เป็นที่ยอมรับ ทำใจไม่ได้ อย่างแน่นอน เราให้ความสำคัญกับชีวิตของเด็ก ดังนั้น ทุกคนจะต้องช่วยกัน ปกป้องชีวิตอันน่ารักของเด็ก โดยเฉพาะเด็ก ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี
นอกจากความเป็นห่วงน้อง ๆ หนู ๆ ตัวน้อย ในสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ต่อการสูญเสีย ที่ไม่ธรรมดาในเด็กเล็กแล้ว ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ยังได้โพสต์ถึงแนวโน้มของการพัฒนาวัคซีน และการพัฒนายาในการนี้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 อีกว่า
โควิด-19 ยังไม่มีวัคซีนจำเพาะสายพันธุ์ใหม่ แต่แนวโน้มพัฒนายารักษาเพิ่มขึ้น วัคซีน covid 19 ในปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่า ลดความรุนแรงของโรคได้
การพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลานาน ในยามปกติ... จะคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด วัคซีนจะให้กับคนที่แข็งแรง ปกติ ถ้ามีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ยอมรับไม่ได้
ในภาวะฉุกเฉิน โรคระบาดที่มีความรุนแรง การพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็ว เร่งรีบ เพื่อเอาชนะกับการระบาดของโรค ที่มีความรุนแรง และมีการใช้ในยามฉุกเฉิน เมื่อโรคสงบ หรือลดความรุนแรงลง การพัฒนาวัคซีนจะคำนึง ถึงความปลอดภัยมากขึ้น
การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน จะต้องใช้อาสาสมัครหลายหมื่นคน ให้และไม่ให้วัคซีน เปรียบเทียบกัน ตรงข้ามกับการพัฒนา ยาใช้รักษาผู้ป่วย ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วย ทนทุกข์ทรมานอยู่แล้ว การศึกษาประสิทธิภาพของยา ให้จำเพาะกับผู้ป่วย ใช้จำนวนผู้ป่วยไม่มาก ในการเปรียบเทียบ จะเป็นหลักร้อย หรือ หลักพันต้น ๆ เท่านั้น การศึกษาทางคลินิก จะลงทุนน้อยกว่ามาก
แนวโน้มโรคโควิด 19 ที่จะได้วัคซีนชนิดใหม่ ให้ตรงสายพันธุ์ หรือมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า มีความจำเพาะ จึงไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะการทำระยะที่ 3 ต้องใช้อาสาสมัครแข็งแรงดี จำนวนมาก เป็นการลงทุนที่สูงมาก และโรคมีแนวโน้มความรุนแรงลดลง จึงมีแนวโน้ม ที่จะหันไปพัฒนายากันมากขึ้น
ประเทศไทย พัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของเราเอง ตั้งแต่มีการระบาดของ ไข้หวัดใหญ่ 2009 มาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่สัญชาติไทยที่ได้ใช้
นอกจากนี้ Backbone MCOT ได้เข้าไปที่เฟซบุ๊ก CVC กลางบางซื่อ หรือคือ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ที่ได้โพสต์ข้อมูล ระบุว่า วันนี้ (วันพฤหัสบดี ที่ 28 เมษายน 2565) เวลา 9.00 น. ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เปิดลงทะเบียนจองคิว ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 และ 4 ชนิดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับประชาชน และลดขั้นตอน, ลดระยะเวลารอคอย #เพิ่มความรวดเร็ว ในวันที่มารับบริการ ตรงวันนัดหมาย #ตรงสู่จุดฉีดวัคซีน
เข็มที่ 3
+ สำหรับผู้มีอายุ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยได้รับเข็มที่ 2 มาแล้วอย่างน้อย 90 วัน
+ สำหรับผู้มีอายุ 12-18 ปี โดยได้รับเข็มที่ 2 มาแล้วอย่างน้อย 120 วัน
เข็มที่ 4
+ สำหรับผู้มีอายุ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยได้รับเข็มที่ 3 มาแล้วอย่างน้อย 120 วัน
คนไทย / ต่างชาติ / ต่างด้าว (จองคิวฉีด ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ)
1. AIS ลงทะเบียนได้ที่ เว็บไซต์ www.ais.th/vaccine
2. TRUE ลงทะเบียนได้ที่ ระบบ USSD กด *707# โทรออก หรือ เว็บไซต์ https://vaccine.trueid.net
3. DTAC ลงทะเบียนได้ที่ ดีแทค แอปฯ และ เว็บไซต์ https://app.dtac.co.th/vaccine/index.html
4. NT ลงทะเบียนได้ที่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ https://covid19vaccine.ntplc.co.th/CVC/home
หมายเหตุ
1. สูตรการฉีด และระยะห่างเข็มกระตุ้น เป็นไปตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข
2. ในวันมารับบริการ สามารถเลือกการฉีดวัคซีนได้
+ เข้าชั้นกล้ามเนื้อเต็มโดส
+ กล้ามเนื้อครึ่งโดส
+ ฉีดเข้าชั้นผิวหนังได้
3. จองคิวฉีดได้ทั้ง คนไทย / ต่างชาติ / ต่างด้าว
4. “คนเดิมบางซื่อ” ศูนย์ฯได้ทยอยนัดอัตโนมัติ
ท่านสามารถตรวจสอบวันนัด ได้ด้วยตนเองผ่าน แอปพลิเคชัน “Vaccine บางซื่อ”
Android
https://bit.ly/3wJYsiB
OS
https://apple.co/31O9FmO
และมารับบริการ ตามวันเวลานัดในแอปฯ หรือหลังจากวันนัด
5. ท่านที่ไม่สะดวกจองคิว ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ สามารถ walk in มารับบริการวัคซีนได้ โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้าได้เหมือนเดิม
แต่จะเพิ่มขั้นตอน.. รอการลงทะเบียน ซึ่งจะมีระยะเวลารอคอย มากกว่าการจองคิวล่วงหน้า และมาตามวันนัด
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan (ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ)
https://www.facebook.com/yong.poovorawan
เฟซบุ๊ก CVC กลางบางซื่อ (ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ)
https://www.facebook.com/CentralVaccinationCenter
28 เม.ย 2565
5840 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย