เฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. มอบหมายให้ นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี สธ. พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้การช่วยเหลือรับตัว เด็กชายอายุ 6 ขวบ ที่เป็นปานดำตั้งแต่กำเนิด มีอาการคันทั่วร่างกาย ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ
โดยวันนี้ (17 มิ.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ระบุว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. มอบหมายให้ นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้การช่วยเหลือ รับตัวเด็กชายอายุ 6 ขวบ ที่เป็นปานดำตั้งแต่กำเนิด และมีอาการคันทั่วร่างกาย เนื่องจากเป็นโรคที่มีความซับซ้อน จึงต้องได้รับการดูแล จากโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ โดยได้ประสาน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้การดูแลรักษาต่อไป ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
ในขณะที่ สำนักข่าว Hfocus สื่อออนไลน์ด้านสุขภาพ เปิดเผยถึงกรณีเด็กชายวัย 6 ขวบ ป่วยปานยักษ์ว่า น.ส.ชลิดา พะละมาตย์ หรือ ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง ประธานมูลนิธิเป็นหนึ่ง ได้นำครอบครัวเด็กชายอายุ 6 ขวบ ซึ่งป่วยเป็นปานยักษ์ทั่วแผ่นหลัง เข้าร้องขอความช่วยเหลือจาก กระทรวงสาธารณสุข ให้เข้าระบบการรักษา โดยมี นายกองตรีธนกฤต จิตอารีรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ รับเรื่อง
โดย น.ส.ชลิดา พะละมาตย์ ประธานมูลนิธิเป็นหนึ่ง กล่าวว่า กรณีของน้องอายุ 6 ขวบ ตนทราบจากสื่อโซเชียล จึงได้ประสานทางครอบครัว เพื่อต้องการช่วยเหลือให้เด็ก ได้เข้าสู่ระบบการรักษา ในเบื้องต้นที่ได้พูดคุยกับเด็กอายุ 6 ขวบ อาศัยอยู่กับตา ที่ จ.บุรีรัมย์ ส่วนพ่อกับแม่แยกทางกัน และเข้ามาทำงานในกรุงเทพ เบื้องต้นอาการของน้อง พบเป็นมาตั้งแต่เด็ก พออายุเริ่มมากขึ้น ขนาดของปานหลังก็ใหญ่ขึ้น ในช่วงที่อากาศร้อนก็จะคัน แสบบริเวณที่ที่มีปาน ต้องเกาแรง ๆ หรือ ทุบหลัง ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
ทั้งนี้ ตา เคยพาไปรักษาใน จ.ขอนแก่น แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ในวันนี้ จึงได้ประสานทาง กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ช่วยเหลือเรื่องการรักษา
ด้าน นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า ได้รับการประสานจากทาง มูลนิธิเป็นหนึ่ง ให้ช่วยเหลือกรณีการรักษา เด็กวัย 6 ขวบ ในวันนี้ได้หารือกับ กรมการแพทย์ เพื่อประสานสถานพยาบาลในสังกัด เช่น สถาบันโรคผิวหนังแห่งชาติ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รวมไปถึง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในการพิจารณาแนวทาง การรักษาผู้ป่วยรายนี้ ซึ่งรับเป็นผู้ป่วยใน เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาในวันนี้ และเป็นการรักษา ตามสิทธิของผู้ป่วย ไม่มีค่าใช้จ่ายตามสิทธิ 30 บาท รักษาทุกที่
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นจากลักษณะของโรค เข้าข่ายป่วยด้วย Congenital giant melanocytic nevus หรือ โรคไฝยักษ์ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งลักษณะลักษณะนี้ มิได้มีร่องรอยโรคเฉพาะบริเวณผิวหนัง แต่อาจพบผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ เช่น ระบบประสาทไขสันหลัง ทำให้มีผลต่อการทรงตัวของเด็ก แผนการรักษาในเบื้องต้น จะต้องตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อ ในจุดบริเวณที่เกิดโรคก่อน แล้วทางแพทย์ จึงจะวางแผนการรักษา พร้อมกับการรักษาเรื่อง การทรงตัวของเด็กไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ โรคดังกล่าวไม่ใช่โรคใหม่ เพราะที่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มีผู้ป่วยลักษณะนี้ เข้ารับการรักษา 5 - 6 ราย แต่ละรายอาการอาจแตกต่างกัน และใช้ระยะเวลา ในการรักษาค่อนข้างนาน โดยทางสถาบันสุขภาพเด็ก จะรับผู้ป่วยเข้าระบบการรักษา พร้อมจัดที่พักให้สำหรับญาติ ที่เข้ามาดูแลเด็กด้วย
ป่วย... ปานดำ รักษาได้ไหม ? และ ปานดำแต่กำเนิด คืออะไร
นอกจากเรื่องราวดีๆ ที่มีท่านผู้ใหญ่ใจดีทั้งจาก กระทรวงสาธารณสุข และผู้ใหญ่ใจดี ในหลายส่วนงาน ได้พร้อมใจร่วมด้วยช่วยเหลือ เด็กน้อยวัย 6 ขวบ ให้ได้รับการรักษาโรค ไฝยักษ์ตั้งแต่กำเนิด แบบไม่มีค่าใช้จ่ายตามสิทธิ 30 บาท รักษาทุกที่แล้ว
ทีมงาน Backbone MCOT มีข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่องของ ปานดำแต่กำเนิด คืออะไร? รักษาได้ไหม? และมีวิธีรักษาอย่างไร มาแนะนำ โดยข้อมูลเรื่องนี้ ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กของ คลินิกปานแต่กำเนิด โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ระบุว่า
Congenital melanocytic nevus คือ ปานดำแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นปื้นนูน สีน้ำตาลเข้มออกดำ พบได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย
ปานชนิดนี้ มักมีขอบเขตคงที่ แต่ขนาดขยายเป็นสัดส่วนเดียวกับ ขนาดของผิวหนังบริเวณนั้น เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น ปานจะค่อยนูนขึ้นช้า ๆ และอาจมีขนขึ้นบริเวณปาน
ปานที่มีขนาดไม่เกิน 20 ตารางเซนติเมตร มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังได้ 1% ในผู้ป่วยที่เป็นฝรั่งผิวขาว แต่ในคนเอเชีย การพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนัง น้อยกว่าฝรั่งมาก
เลเซอร์ ยังไม่สามารถกำจัดปานชนิดนี้ได้ เพราะพยาธิสภาพของปาน อาจอยู่ลึกถึงชั้นไขมัน ซึ่งแสงไม่สามารถทะลุทลวงได้ถึง เลเซอร์สามารถใช้กำจัดได้แค่ ขน..บนปาน
ถ้าปานมีขนาดเล็ก และผู้ป่วยต้องการเอาออก ทางเลือกหนึ่ง คือ การผ่าตัด แต่จะเกิดแผลเป็นขึ้นบริเวณนั้น ถ้าปานมีขนาดใหญ่ การผ่าตัดเป็นไปได้ยาก เพราะแผลเป็นหลังผ่าตัด จะมีขนาดใหญ่ และอาจเกิดการผิดรูปของผิวหนังบริเวณข้างเคียง จากการดึงรั้งของแผล
ถ้าปานอยู่ในร่มผ้า หรือ ผู้ป่วยไม่ได้สนใจ เกี่ยวกับความงาม อาจไม่มีความจำเป็น ต้องเอาปานออก แต่ใช้วิธีตรวจติดตามกับ แพทย์ผิวหนังเป็นระยะ ๆ
นอกจากข้อมูลที่มีในเพจเฟซบุ๊กแล้ว ทาง... คลินิกปานแต่กำเนิด โรงพยาบาลศิริราช ยังมีข้อมูลที่ได้บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องของ ปานแต่กำเนิด ว่า เกิดจากอะไร? มีปานแบบไหนบ้าง ที่สามารถพบได้บ่อย มาแนะนำผ่านเว็บไซต์ที่เป็นทางการของคลินิกฯ (สามารถเข้ารับชมทางลิงก์ด้านล่างนี้)
ปานแต่กำเนิด เกิดจากอะไร? มีปานแบบไหนบ้าง
https://birthmarkcenter.com/th/share-story/birthmarks_causes/
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : กระทรวงสาธารณสุข
https://www.facebook.com/fanmoph
เว็บไซต์ : สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ
https://www.hfocus.org
เฟซบุ๊ก : คลินิกปานแต่กำเนิด โรงพยาบาลศิริราช
https://www.facebook.com/birthmark.siriraj
เว็บไซต์ : คลินิกปานแต่กำเนิด โรงพยาบาลศิริราช
https://birthmarkcenter.com/th
17 มิ.ย. 2567
1170 views
ขนาดตัวอักษร