X
ยังไงดี ? กางผังเทียบ ฝีดาษวานร - คน ? หมอ ย้ำวัคซีนเสี่ยงเชื้อลาม ยังไม่จำเป็น

ยังไงดี ? กางผังเทียบ ฝีดาษวานร - คน ? หมอ ย้ำวัคซีนเสี่ยงเชื้อลาม ยังไม่จำเป็น

26 พ.ค. 2565
610 views
ขนาดตัวอักษร

ผู้เชี่ยวชาญเชื้อไวรัส กางแผนผังเผยข้อมูล การถอดพันธุกรรม ฝีดาษวานร กับ ฝีดาษคน พร้อมชี้แจงข้อสงสัย ที่หลายคนวิตกกังวล ฝีดาษลิง จะกลายพันธุ์เป็นฝีดาษคน ที่เคยระบาดไปทั่วโลกได้หรือไม่ และเมื่อติดเชื้อโรคฝีดาษลิง ฉีดวัคซีนภายหลัง จะทันหรือไม่ หรือควรฉีดกันก่อน ? คนไทยที่เคยปลูกฝี มานานหลาย 10 ปี จะยังมีภูมิคุ้มกันหรือไม่ ? ขณะที่ หมอสมศักดิ์ ชี้ไทยยังไม่จำเป็น เร่งหาวัคซีนป้องกัน ฝีดาษวานร !!?

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เปิดเผยข้อมูล การถอดพันธุกรรม ฝีดาษลิง ฝีดาษคน และวัคซีนที่ใช้ปลูกฝี ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า



Phylogenetic tree นี้ แสดงข้อมูลความใกล้เคียงกัน ทางพันธุกรรมของไวรัส orthopoxvirus ซึ่งมี ฝีดาษลิง (MPXV) รวมอยู่ด้วย จะเห็นว่า MPXV แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ส่วนที่เป็น WA (West Africa) clade

2. CB (Congo Basin หรือ Central Africa) clade


โดยความแตกต่างระหว่างกัน 2 clade นี้ มีไม่มาก แต่ความสามารถในการก่อโรคแตกต่างกัน สายพันธุ์ที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ คือ WA ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อโรคไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า CB มาก

ในแผนภาพนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า ฝีดาษคน หรือ Variola virus แตกต่างจาก ฝีดาษลิง มาก ทำให้ความกังวลที่ ฝีดาษลิง จะกลายพันธุ์ไปเหมือนฝีดาษคน แทบจะเป็นไปไม่ได้ ตามเส้นทางวิวัฒนาการของไวรัส

ที่น่าสนใจในภาพนี้ คือ ไวรัสที่เราใช้พัฒนาต่อยอด มาเป็นวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษคน คือ Vaccinia virus ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่าง ฝีดาษลิง และ ฝีดาษคน เมื่อวิเคราะห์แผนภาพนี้ดี ๆ จะเห็นว่า Vaccinia virus มีความใกล้เคียงทางวิวัฒนาการ หรือ ทางพันธุกรรมกับ ฝีดาษลิง มากกว่าฝีดาษคนซะอีก

ถ้าวัคซีนจาก Vaccinia virus ที่ใช้ปลูกฝีกัน สามารถใช้ป้องกันฝีดาษคนได้ดี จนสามารถทำให้ไวรัส หายไปจากธรรมชาติได้ และ วัคซีนใกล้เคียงกับฝีดาษลิง มากกว่าฝีดาษคน ก็ไม่มีเหตุผลอะไร ที่ทำให้กังวลว่า ถ้าฝีดาษลิง จะก่อปัญหาระบาดเป็นวงกว้างจริงแล้ว วัคซีนตัวนี้ จะใช้ไม่ได้ครับ เทคโนโลยีรุ่นเก่า ที่ไม่จำเป็นต้อง upgrade อะไรเพิ่มเลยครับ



ทั้งนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ได้โพสต์อีกว่า เนื่องจาก Monkeypox มีระยะฟักตัวที่ยาว (21 วัน) ทำให้คนที่รับเชื้อมา มีเวลามากพอที่ร่างกาย สามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ทัน ก่อนที่ไวรัส จะเริ่มเพิ่มจำนวนในร่างกาย

นี่เป็นสาเหตุที่วัคซีน สำหรับ Monkeypox สามารถฉีดให้กับ ผู้มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อมา CDC แนะนำว่า สามารถให้วัคซีน หลังสัมผัสเชื้อได้นานถึง 4 วัน เพราะ แอนติบอดีจากวัคซีนขึ้นทัน ก่อนที่ไวรัส จะเริ่มแบ่งตัวเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าให้วัคซีน หลังจากสัมผัสเชื้อไป 4 - 14 วัน ภูมิอาจจะขึ้นไม่เต็มที่ ซึ่งมีโอกาสที่จะป่วย แต่เชื่อว่า อาการของโรคจะน้อยลง ... ดีที่สุด คือ เสี่ยงปุ๊บฉีดวัคซีนปั๊บครับ



ข้อมูลนี้ สำคัญมาก เพราะถ้ามีวัคซีนเพียงพอ Monkeypox จะควบคุมได้ง่ายกว่า โควิด-19 มาก ๆ เพราะวัคซีนโควิด-19 ทำแบบนี้ไม่ได้

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ CDC : Centers for Disease Control and Prevention
คลิกดูเพิ่มเติม : (Monkeypox and Smallpox Vaccine Guidance)




ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha กล่าวถึงข้อมูล การฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ จะอยู่ได้นานเท่าใด ? เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า

ในยุคของฝีดาษลิง เชื่อกันว่า คนที่เคยฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ (ทั้งนี้ ประเทศไทย เลิกฉีดไปในปี 2523) จะยังสามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ ประมาณ 85% ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันยังต้องดีอยู่

มีการศึกษาในวารสารนิวอิงแลนด์ ตั้งแต่ปี 2007 ในบุคลากรที่ทำงาน จำนวน 45 คน ในศูนย์สัตว์จำพวกลิง ที่โอเรกอน มีการเจาะเลือดเก็บตัวอย่าง เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยประมาณ 15 ปี ประมาณ 60% ยังคงมีภูมิคุ้มกันอยู่

ทั้งนี้ประเมินกันว่า ระยะเวลาครึ่งชีวิต จะอยู่ประมาณ 90 ปี และเป็นกลไกของ memory B cell independent long lived plasma cells (ไม่ใช่ dependent-short lived) และด้วยความที่วัคซีนเป็นเชื้อเป็น

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่ทุกคน ที่ฉีดวัคซีนไข้ทรพิษไปแล้ว จะป้องกันไข้ฝีดาษลิงได้ ดังข้างต้น

และวัคซีนยุคใหม่ ยังคงใช้กัน สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงมาก แม้ว่าอาจจะมีผลข้างเคียง วัคซีนไข้ทรพิษ ในสมัยโบราณ ที่เกิดสมองอักเสบได้ แม้ว่าจะไม่มาก แต่อัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 50 (แนะนำบทความจาก Dr Judd Chontavat)

ขณะที่ หมอสมศักดิ์ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เผย "ฝีดาษวานร" ไทยยังไม่พบผู้ป่วย และไม่เคยพบมากก่อน ความเสี่ยงของประเทศ ยังไม่ถึงขั้นต้องรีบให้วัคซีน ปลูกฝี เพราะระบาดยังอยู่ในวงจำกัด ขณะที่วัคซีนเคยมี แต่หยุดให้ตั้งแต่ปี 2523 ย้ำ! วัคซีนป้องกันเป็น "เชื้อเป็น" มีความเสี่ยงมากกว่า การให้ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เชื้อลามทั้งตัว และเสี่ยงเสียชีวิต



วันนี้ 26 พฤษภาคม 2565 เว็บไซต์ Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ ได้เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ฝีดาษวานร ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศไทย และไม่เคยพบผู้ป่วยในไทยมาก่อน ปกติจะเจอผู้ป่วยในแอฟริกา

แต่ตอนนี้ ที่ทุกประเทศต้องกังวล และเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง เนื่องจากมีการระบาด ในบางประเทศยุโรป และพบผู้ป่วยในหลายประเทศ ที่บอกว่า ไม่ได้มีประวัติ ไปแอฟริกามาก่อน แสดงว่า มีการแพร่กระจายเชื้อในประเทศนั้น

อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ป่วยยังมีประวัติเชื่อมโยงถึง การเข้าร่วมกิจกรรมหนึ่ง ที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก และจากหลากหลายประเทศ และมีกิจกรรม ที่สัมผัสใกล้ชิดกันมาก ๆ จนทำให้ติดเชื้อในหลายประเทศ แต่ก็ยังเป็นการพบ การแพร่เชื้อในวงจำกัด และเฉพาะกลุ่ม ซึ่งโรคนี้ การติดเชื้อโดยหลัก ยังเป็นการต้องสัมผัสใกล้ชิด โดนสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ และแพร่เชื้อ ระยะที่มีอาการแล้ว เช่น มีตุ่ม หรือแผล ทำให้สังเกตได้ชัดเจน
        
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า 5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ออกหนังสือชี้แจง กรณีโรคฝีดาษวานร โดยระบุข้อหนึ่งว่า วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย แต่ยังไม่มีความจำเป็น ที่ประชาชนทั่วไป จะต้องเร่งรีบหาวัคซีนนี้ เนื่องจากโรคนี้ ยังถือเป็นการระบาดในวงจำกัด อยู่ในต่างประเทศ และประเทศไทย ไม่เคยพบการติดเชื้อนี้มาก่อน  ยังถือว่า มีความเสี่ยงต่อการระบาด ของโรคไม่มาก การให้วัคซีนฝีดาษวัว ที่ป้องกันฝีดาษคน และฝีดาษวานรได้ด้วย จึงยังไม่มีความจำเป็น ต้องเร่งรีบในขณะนี้ และคนที่เคยได้รับวัคซีนนี้แล้ว ก็ยังสามารถป้องกันโรคได้อยู่ มีการศึกษาพบว่า ผ่านไป 80 ปี ภูมิคุ้มกัน ก็ยังใช้ป้องกันได้


อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : Anan Jongkaewwattana (ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา)
https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana

เฟซบุ๊ก : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
https://www.facebook.com/thiravat.h

เว็บไซต์ : Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ
https://www.hfocus.org



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล