X
สธ. แถลงจับยาโควิดเถื่อน ของกลางกว่า 10 ล้านบ. ลั่นทำลายทิ้งทั้งหมด

สธ. แถลงจับยาโควิดเถื่อน ของกลางกว่า 10 ล้านบ. ลั่นทำลายทิ้งทั้งหมด

4 ส.ค. 2565
540 views
ขนาดตัวอักษร

สธ. ร่วมกับ ตำรวจสอบสวนกลาง จับกุมเครือข่าย ค้ายารักษาโควิดเถื่อน พบของกลางกว่า 80,000 เม็ด มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ซุกซ่อนอยู่ 2 แหล่งกลางกรุง ย่านซอยลาดพร้าว เขตวังทองหลาง และซอยราชพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน รมว.สธ. ย้ำซื้อยาออนไลน์ เสี่ยงได้ยาปลอม และยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นำแถลงข่าวโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา, กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก.,พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก.,พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท. รรท.รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุม



1. นายประเสริฐ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญา ที่ 1514/ 2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565

2. นางสาว ขนิษฐา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1516/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 และแจ้งข้อกล่าวหา

3. นางสาว ฉลวยรัตน์ (สงวนนามสกุล) กระทำความผิดฐาน “ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบัน โดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายยา ที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา”

สืบเนื่องจาก กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแส จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่า มีการลักลอบขายยา กลุ่มรักษาผู้ป่วย ที่ติดเชื้อโควิด-19 ผ่านสื่อออนไลน์ ผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งยาในกลุ่มนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. และผ่านการตรวจสอบ คุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการใช้ยาดังกล่าว ต้องได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย หรือ ผลกระทบกับสุขภาพของผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ทำการสืบสวน พบว่า มีการขายยาผ่านสื่อออนไลน์ ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้ให้สายลับ ทำการสั่งซื้อยาดังกล่าว ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก,อินสตาแกรม,ฯลฯ) จำนวน 2 ร้าน เมื่อได้ผลิตภัณฑ์มาแล้ว จึงได้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติม ทราบว่า ตัวยาจากทั้ง 2 ร้าน ได้ถูกจัดส่งจากสถานที่เดียวกัน เป็นบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่เขตวังทองหลาง ซึ่งเชื่อได้ว่า เป็นสถานที่จัดเก็บ และกระจายสินค้า เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญา เข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว ในซอยลาดพร้าว 80/3 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้น พบผลิตภัณฑ์ยา ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ดังนี้

1. ยา Monulpiravir ขนาด 200 มก. ยี่ห้อ Mylan จำนวน 1,351 กล่อง

2. ยา Monulpiravir ขนาด 200 มก. ยี่ห้อ Azista จำนวน  200 กล่อง  

3. ยา Monulpiravir ขนาด 200 มก. ยี่ห้อ XENON จำนวน  300 กล่อง

4. ยา Favipiravir ขนาด 400 มก. ยี่ห้อ XENON จำนวน 270 กล่อง

รวมของกลาง มูลค่าประมาณ 9,500,000 บาท โดยมีนางสาวฉลวยรัตน์ (สงวนนามสกุล) รับว่า เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ยาข้างต้น มีไว้เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า จึงได้เชิญตัวไปพบพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. และแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 และยึดผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวไว้เป็นของกลาง

ต่อมา ได้ทำการสืบสวนขยายผล จนทราบแหล่งที่มา และสถานที่จัดเก็บ และกระจายยาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด  ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่จาก อย. ร่วมกันนำหมายค้น ของศาลอาญาตลิ่งชัน จำนวน 2 หมาย เข้าตรวจค้นบ้านพักในพื้นที่ ซอยราชพฤกษ์ 9 แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้น พบผลิตภัณฑ์ยา กลุ่มยารักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 และยาอื่น ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย

1. ยา FAVIKAST ขนาด 400 มก. จำนวน 20 กล่อง

2. ยา MOLAZ ขนาดบรรจุ 40 เม็ด จำนวน 30 กล่อง

3. ยา REDEMSIVIR 100 mg/vial จำนวน 7 กล่อง

4. FABIS SPRAY จำนวน 75 กล่อง

5. ยา MOLNATRIS ขนาด 200 มก. จำนวน 82 กล่อง

6. ยา MOLUZEN ขนาด 200 มก. จำนวน 33 กล่อง

7. MOLCOVIR ขนาด 200 มก. จำนวน  3 กล่อง

8. FERAVIR ขนาด 200 มก. จำนวน 10 กล่อง

รวมมูลค่าของกลาง ประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งขณะตรวจค้น พบนายประเสริฐ  ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1514/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 แสดงตนเป็นเจ้าบ้าน และเจ้าของยาดังกล่าว จึงได้จับกุมตัว นายประเสริฐ ตามหมายจับ และตรวจยึดยาข้างต้น เป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. โดยผู้ต้องหาให้การว่า ยาดังกล่าวสั่งซื้อมาจากประเทศอินเดีย ผ่านตัวแทนขาย โดยกลุ่มผู้นำเข้าไม่เคยมีความรู้ หรือ ใบประกอบวิชาชีพ ทางเภสัชกรรมแต่อย่างใด

ต่อมา ในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ได้ขยายผลจับกุม ผู้ค้ารายย่อย ในขบวนการดังกล่าวได้อีก 1 ราย คือ นางสาว ขนิษฐา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 1516/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.

การกระทำของผู้ต้องหา ทั้ง 2 รายดังกล่าว เป็นความผิดตาม  

- พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบัน โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

- พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(4) “ขายยา ที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประสานทำงาน ร่วมกันระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิด เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ในการสืบหาแหล่งขายยาโมลนูพิราเวียร์ ที่ผิดกฎหมายทางสื่อออนไลน์  พบมีการลักลอบนำเข้ายา ที่ใช้รักษาโควิด-19 เช่น Molnupiravir, Favipiravir, Remdesivir สเปรย์พ่นจมูก ที่มีส่วนประกอบของ Nitric Oxide ฯลฯ โดยยาดังกล่าวลักลอบนำเข้า โดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่ผ่านการตรวจสอบ จากด่านอาหารและยา และเป็นยาที่ไม่ได้ ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไม่ผ่านการพิจารณาเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของยา

โดยปฏิบัติการครั้งนี้ ได้จับกุมเครือข่ายลักลอบ ขายยารักษาโควิดได้ จำนวน 3 ราย ผลการจับกุม ได้ของกลาง ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตำรับยาทั้งหมด รวมกว่า 2,300 กล่อง ประมาณ 80,000 เม็ด มีมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท โดยผู้ต้องหา รู้จักกับคนอินเดีย ให้ช่วยซื้อให้ และส่งมาจากประเทศอินเดีย ลักลอบนำเข้ามาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ลักลอบนำเข้าผ่านทาง ด่านศุลกากรไปรษณีย์ แจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ มียาบางส่วน ที่ผู้ต้องหาหิ้วติดตัวทยอยนำเข้า โดยทำมาแล้วประมาณ 2 เดือน

ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า ไม่ควรซื้อยาออนไลน์กินเอง ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย และสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ ถึงจะมีความปลอดภัย ต้องเลิกคิดซื้อมาตุนสำรองไว้ที่บ้าน โรคโควิดต้องให้แพทย์รักษา กินยาตามแพทย์สั่ง หากประชาชน ซื้อยาดังกล่าว ไปรับประทานเอง อาจได้ยาปลอม ที่ไม่มีตัวยาสำคัญ หรือ ยาที่ไม่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ในการรักษาโควิด-19 ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า ปลอดภัย และอาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ผู้ป่วยโควิดตอนนี้ หากติดเชื้อควรไปพบแพทย์ ขอย้ำว่า ไม่ใช่ทุกคน ที่จะได้ยาต้านไวรัส โมลนูพิราเวียร์ หรือ ฟาวิพิราเวียร์ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ฝากความห่วงใย มายังพี่น้องประชาชนว่า ควรใช้ความระมัดระวัง ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ยา เพื่อรักษาโรคโควิด-19 และยาอื่น ๆ เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างแรก ที่ประชาชนจะเข้าถึง เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วย หากได้รับยา ที่ไม่มีคุณภาพ อาจเกิดการดื้อยา, ไม่หายจากการเจ็บป่วย และเสี่ยงแพร่เชื้อ ไปยังผู้อื่น ซึ่งส่งผลถึงชีวิตได้ และขอเตือน ผู้ที่ลักลอบ ขายยารักษาโควิด-19 ที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้หยุดการกระทำดังกล่าวทันที เนื่องจากการขายยาออนไลน์ ยังเป็นความผิดอยู่ และต้องรับโทษ ทั้งปรับและจำคุก หากตรวจพบ จะดำเนินคดีถึงที่สุด เพราะท่านกำลังทำให้ผู้ป่วยโควิด หรือ ผู้ที่ต้องการใช้ยาดังกล่าว ได้รับความเสี่ยงจากการใช้ยา และเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็น การกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน ปคบ. 1135 หรือ เพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค หรือแจ้งสายด่วน อย. 1556  อีเมล : 1556@fda.moph.go.th



นอกจากนี้ Backbone MCOT ขออนุญาตหยิบยก นำข้อมูลบางส่วนจากเพจเฟซบุ๊ก อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ได้โพสต์ข้อความกล่าวถึง รมว.สธ. เปิดงานแถลงข่าว อย. ร่วมกับ บก.ปคบ. บุกจับกุม และทลายแหล่งค้ายาโควิดเถื่อนดังกล่าว ซึ่งมีข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ยาที่จับยึดได้ทั้งหมด จะนำไปทำลาย ไม่มีการนำไปบริจาค หรือนำไปใช้ต่อ เนื่องจากเป็นยาเถื่อน ไม่มีการขึ้นทะเบียน

อย่าพยายาม สร้างความเชื่อว่า เมื่อแพทย์ไม่สั่งจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ จึงควรไปซื้อเอง เนื่องจากไม่ถูกต้อง ทั้งการปฏิบัติ และทางกฎหมาย รวมถึงอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ พร้อมย้ำ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ติดเชื้อ ต้องรับประทานยาต้านไวรัสทุกคน ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนใหญ่ ไม่ได้รับ เพราะไม่มีอาการ แพทย์จึงไม่ได้จ่ายยาต้านไวรัส แต่อาจจ่ายยารักษาตามอาการ เป็นขั้นตอนตามปกติ ขอให้เชื่อแพทย์ ความปลอดภัยจะเกิด อย่าไปเสี่ยงอันตราย กับการไปซื้อยาเถื่อน ที่ไม่ได้รับการรับรอง


ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ยืนยันว่า ตั้งแต่ ม.ค. - ก.ค. ได้จัดสรร ยาให้โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน โดยจัดสรร ยาฟาวิพิราเวียร์ แล้ว 265.5 ล้านเม็ด, โมลนูพิราเวียร์ 12 ล้านเม็ด, เรมเดซิเวียร์ 375,210 ไวอัล

ปัจจุบัน ยาฟาวิพิราเวียร์ และ โมลนูพิราเวียร์ อยู่ในพื้นที่ 11 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 7.8 แสนเม็ดต่อวัน เพียงพอการใช้ 14 วัน นอกจากนี้ จะเติมยาต่อเนื่อง เมื่อมีการใช้ด้วยระบบ VMI เพื่อให้ยาในพื้นที่ มีสำรองสำหรับการใช้ 14 วันอย่างต่อเนื่อง

ส่วน เรมเดซิเวียร์ เหลืออยู่ในพื้นที่ 35,000 ไวอัล ใช้เพียงพอ 12 วัน ส่วนกลางยังมีสำรอง ยาฟาวิพิราเวียร์ และ โมลนูพิราเวียร์ 2.8 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 7 พันไวอัล โดยอยู่ระหว่าง จัดซื้อเพิ่มเติม คือ ฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด, โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด และ เรมเดซิเวียร์ 8 หมื่นไวอัล


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : อนุทิน ชาญวีรกูล
https://www.facebook.com/AnutinC



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล