จริงหรือ.. คำถามแรก ที่ชวนสงสัย.. ยาแก้แพ้ ทำสมองพัง ครั้งนี้ อาจารย์หมอ จะมาเฉลยผ่านงานวิจัย ที่มีการทดลอง สารในกลุ่มยาแก้แพ้ กับผู้ป่วยสูงวัย ที่มีปัญหาทางสมอง และผลการทดลองเบื้องต้น พบว่า มีผลทำให้เกิดสารพิษ ทำลายสมองมากขึ้น แล้วทำไม ยังมีการใช้งานกันอยู่ ด้วยเหตุผลใด ?
เมื่อวาน 25 กรกฎาคม 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เผยแพร่บทความ หมอดื้อ กล่าวถึงผลการทดลอง สารในกลุ่มยาแก้แพ้ กับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ในผู้ป่วยสูงวัยจำนวนหนึ่ง เรื่อง แก่แล้ว กินยาแก้แพ้ อาจสมองพัง โดยระบุว่า
ยาแก้แพ้ แก้เวียน เมารถ เมาเรือ เป็นยาปลอดภัยพอสมควร จัดเป็นยาโบราณ ยกเว้นยาสมัยใหม่ ที่ต้องทานนานพอสมควร ถึงจะเริ่มแสดงฤทธิ์ ยาเหล่านี้ นอกจากเรื่องแพ้ เวียนหัว บ้านหมุน ยังนำมาใช้เป็น ยานอนหลับเฉพาะกิจ เห็นได้ตามร้านซูเปอร์มาร์เกตทั่วไป เช่น ในต่างประเทศ และยังมีสรรพคุณ ลดอาการสั่น ที่เจอในโรคพาร์กินสันได้ดีพอสมควร
ข้อเสีย ที่มีพ่วงตามมา คือ ง่วง อาจจะเกิดอันตรายเวลาขับรถ, ทำงานกับเครื่องจักร เป็นต้น ฤทธิ์สำคัญ คือ ต้านระบบ Cholinergic (Anti-cholinergic, AC) ดังนั้น อาจมีปากแห้ง, น้ำลาย, น้ำตาแห้งร่วม บางรายที่มีปัญหาเรื่อง ปัสสาวะ ก็อาจจะต้องเบ่ง และอาจกระทบ เรื่องความดันสูงในลูกตา โดยเฉพาะคนเป็นต้อหิน ยาที่มีฤทธิ์ดังกล่าว มียานอกกลุ่มแก้แพ้ด้วย ทั้งนี้ มีการจัดอันดับความแรง (Anticholinergic burden score) เป็น 1 - 2 - 3 โดยแรงมาก คือ เบอร์ 3 ที่ถูกจัดเป็นแรงมาก เช่น
ยาแก้แพ้, ยาแก้เวียน, Chlorpheniramine Dimenhydrinate (Dramamine) Diphenhydramine (Benadryl) Meclizine
ยาอารมณ์ดี ต้านเศร้า เช่น doxepin, nortriptyline
ยาช่วยอาการปัสสาวะลำบาก หรือ ผิดปกติ รวมทั้งช้ำรั่ว เช่น Darifenacin, Oxybutynin, Tolterodine (Detrusitol), Trospium, Solifenacin
เริ่มอย่างน้อย ตั้งแต่ปี 2005 มีการตั้งข้อสังเกตว่า ยากลุ่มต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ AC นี้ จะมีผลทำให้สมองเฉื่อยชา ไม่แล่น เพราะยากระตุ้นสมอง ที่ใช้ในสมองเสื่อม (แต่ไม่ชะลอโรค) ออกฤทธิ์ทางเพิ่มสาร Acetylcholine รวมทั้งมีการตรวจประเมิน ทางพุทธิปัญญา (cognitive function) แต่หลักฐานไม่แน่นแฟ้น โดยที่อาจเนื่องจากอายุมากอยู่แล้ว และโดยที่สมองเสื่อม อาจไม่สัมพันธ์กับยา AC โดยตรง และยังเนื่องจากไม่มีดัชนีทางชีวภาพ (Biomarker) ที่เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจน การศึกษาที่เป็นชิ้นเป็นอันจริง ๆ มาจากกลุ่ม Alzheimer’ s Disease Neuroimaging Initiative (วารสาร สมาคมแพทย์อเมริกัน ทางประสาทวิทยาปี 2016)
ทั้งนี้ มีกลุ่มในการศึกษา ที่ไม่ได้ใช้ยากลุ่มต้าน Cholinergic (แทนด้วย AC-) 350 ราย และกลุ่มที่ใช้ยา AC ในระดับฤทธิ์ 2 และ 3 (AC+) 52 ราย ลักษณะประจำกลุ่มที่คล้ายคลึงกัน คือ อายุเฉลี่ย 73 ปี ผู้ชาย ผู้หญิงใกล้เคียงกัน ระดับการศึกษาพอกัน มียีนอัลไซเมอร์ (28% AC+ เทียบกับ 25% ใน AC-) เป็นคนขาว (84.6 ต่อ 94.2%) ปริมาณชนิดของยา ที่ใช้ประจำใกล้กัน ทั้งสองกลุ่มนี้ มีไม่มากนัก ที่เคยเป็นอัมพฤกษ์ โรคหัวใจ หรือเคยผ่าตัดหัวใจ เส้นเลือด หรือเป็นเบาหวาน รวมทั้งเป็นโรคนอนกรน อากาศไม่เข้าสมอง (ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยง สมองเสื่อม) หัวใจเต้นระริก AF ซึ่งจะมีลิ่มเลือด ไปอุดเส้นเลือดสมอง โรคซึมเศร้า กังวล นอนไม่หลับ รวมทั้งสมาธิสั้น โรคจิต และอุบัติเหตุสมอง ที่มีเยอะใกล้กันทั้ง 2 กลุ่ม คือ มีความดันสูง ไขมันสูง ประมาณกึ่งหนึ่ง และทั้งสองกลุ่ม ถนัดขวาเป็นส่วนมาก
การติดตามสมอง มีทั้งการประเมินพุทธิปัญญา (Cognitive scores) การตรวจดูเมตาบอลิซึม ของสมองด้วยเครื่อง PET scan (FDG) ดูการใช้กลูโคสของสมอง รวมทั้งดูความเหี่ยวฝ่อของสมอง โดยใช้คอมพิวเตอร์สมอง สนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยมีการวัดขนาดปริมาตรของสมอง แต่ละส่วนอย่างละเอียด เป็นระยะ
จากการติดตาม 96 เดือน ผลปรากฏว่า กลุ่ม AC+ มีความฝ่อของสมอง ทั้งปริมาตร เปลือกสมอง และบริเวณกลีบขมับ (ควบคุมความจำ) และเนื่องจากสมองฝ่อ เลยทำให้มีช่องโพรงน้ำ ในสมองกว้างขึ้น (Lateral และ Inferior lateral ventricle volumes) รวมทั้งมีการทำงานถดถอย จากการตรวจสมองด้วย PET Scan การตรวจทางพุทธิปัญญา มีทั้งความจำ การทำงานด้านการจัดการ (Executive) พบมีคะแนนเลวกว่ากลุ่ม AC- โดยเฉพาะกลุ่ม AC+ ที่ใช้ยาแรงระดับ 3 กลไกของยา AC ไม่ทราบแน่ชัด
การทดลองในหนู ที่ตบแต่งพันธุกรรม ให้เป็นอัลไซเมอร์ พบว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของ การเชื่อมโยงของระบบ Cholinergic จะลดความเสื่อมได้ ดังนั้น การต้านระบบ รวมทั้งการทำลายสมอง ที่เป็นระบบ Cholinergic ในสมองส่วน Basal forebrain อาจได้ผลในทางตรงข้าม
สมมติฐานอีกประการ คือ การได้ยา AC ทำให้ระดับฮอร์โมนสเตอรอยด์สูงขึ้น เหมือนกับที่พบในความเครียดเรื้อรัง และจะมีสารพิษในสมองมากขึ้น โดยที่มีการควบคุม การบิดเกลียวของโปรตีนในสมองไม่ดี กลายเป็นสารพิษทำลายสมอง
จะอย่างไรก็ตาม ยาแก้แพ้ รวมยากลุ่มอื่น ๆ ทางปัสสาวะ และช้ำรั่ว ยาอารมณ์ดี เป็นยาสำคัญ และมีประโยชน์ ดังนั้น ต้องพิจารณาความจำเป็น และขนาดของยาที่ใช้ และระยะเวลาที่ใช้ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ยาสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ที่เพิ่มสาร Acetylcholine จะสามารถทำให้ เซลล์สมองเปล่งปลั่ง ตายช้า ตายยากได้นะครับ อาจเป็นคนละเรื่องเดียวกัน
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
https://www.facebook.com/thiravat.h
26 ก.ค. 2565
1300 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย