17 มี.ค.68 - สสส. เปิดเวทีเสวนา พลังทางสังคมกับการสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคมและสมาคมธุรกิจร้านอาหาร จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสื่อสารสังคม ในหัวข้อ “พลังทางสังคมกับการสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน”
ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนทางสังคมในการที่ภาคส่วนต่างๆ ต้องเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัจจัยเสี่ยง พลังทางสังคมและการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน เป็นประเด็นที่สำคัญและมีความหมาย การร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ จนเป็นพลังสังคมจะสามารถเปลี่ยนเมืองได้ไม่จำเป็นต้องรอหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว แม้แต่เด็กและเยาวชนก็สามารถร่วมกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ คำว่าเมืองไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่เมืองใหญ่ แต่สามารถตีความได้หลากหลาย ชุมชนก็เป็นเมือง ร้านค้าหน้าโรงเรียนก็เป็นเมือง โรงเรียนก็เป็นเมือง พลังทางสังคมมีอยู่ในทุกที่เราต้องนำมาใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน อสม. ผู้สูงอายุ ฯลฯ ต้องนำพลังของคนกลุ่มนี้มาร่วมสร้างสรรค์สังคม พลังสังคมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากความรัก
นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม กล่าวว่า สถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบันเด็กเยาวชนไทยมีแนวโน้มเข้าไปยุ่งเกี่ยวและได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยง ทั้งบุหรี่ไฟฟ้า น้ำกระท่อม กัญชา ยาเสพติด เหล้าเบียร์ การพนันออนไลน์ รวมทั้งการบริโภคอาหารแปรรูปที่ไม่ดีต่อสุขภาพ(Junk Food) รวมทั้งภาวะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จำนวนเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลง การดูแลสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเติบโตของพลเมืองคนรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เราเห็นถึงความพยายามเล็กๆร่วมกันของภาคีที่เป็นพลังทางสังคมในการร่วมกันขับเคลื่อนความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร และบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนในรูปแบบต่างๆ โดยมุ่งเป้าเพื่อสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพและคุณภาพสังคม พลังทางสังคมในทุก Setting ต้องมาร่วมกันเปลี่ยน ทั้งโรงเรียน ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง ร้านค้า ผู้ประกอบการร้านอาหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการในพื้นที่
ดร.ณัฐยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการเทศกาลอาหารอร่อยได้ไร้แอลกอฮอล์ กล่าวว่า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยดำเนินการร่วมกันกับสมาคมธุรกิจร้านอาหารและผู้ประกอบการร้านอาหารในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ มุ่งปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคมเพื่อลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และส่งเสริมด้านสุขาภิบาลอาหาร เทศกาลอาหารที่มุ่งเรื่องการสร้างเสริมดูแลสุขภาพ เกิดพื้นที่รูปธรรมงานเทศกาลอาหารอร่อยได้ไร้แอลกอฮอล์ใน 50 พื้นที่ทั่วประเทศ ปัจจุบันนอกจากมุ่งเน้นการเปลี่ยนค่านิยมในการผลิตและจำหน่ายอาหารของผู้ประกอบการแล้ว กิจกรรมในโรงเรียนจะมุ่งให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ พร้อมกับสร้างกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันของโรงเรียน นักวิชาการ ชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน ในการออกแบบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร เช่น การปลูกผัก การปรุงอาหาร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ของตนเอง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณะครู กับนักเรียน ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก และทำให้เด็กมีกิจกรรมสร้างสรรค์ทำซึ่งจะทำให้เด็กลดการใช้โซเชียลมีเดีย ความสำเร็จในกิจกรรมที่ทำแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่จะค่อยๆ ทำให้เด็กมีพัฒนาด้านอารมณ์มากขึ้น ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือ การทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง (Self-Concept)และเติบโตในสังคมปัจจุบันอย่างมีคุณภาพ
ในเวทีเสาวนาได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพื้นที่ต้นแบบ อาทิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 3 สงขลา โรงเรียนบ้านม่วง จังหวัดสงขลา โรงเรียนวัดสระด่าน จังหวัดสุพรรณบุรี โรงเรียนบ้านห้วยกวางจริง จังหวัดเพชรบุรี เทศบาลตำบลกำแพง อำเภออุทุมพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น
นางวิภารัตน์ เอี่ยววัฒน ผอ.รร.บ้านม่วง อ.สะเดา จ.สงขลา กล่าวว่า ในถาดอาหารไม่ได้มีแค่อาหาร แต่มีความหวังและความคาดหวังของภาคส่วนต่างๆ จึงมุ่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพแก่เด็ก ครูก็ไปอบรมเรื่องโภชนาการ การดำเนินงานในระยะต่อไปจะเป็นการแปรรูปอาหาร ซึ่งนอกจากจะได้อาหารแล้วนักเรียนยังได้ทักษะชีวิต มีภาวะผู้นำ มีทักษะในการวางแผนการทำงาน ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด นักเรียนมีความรักโรงเรียนมากขึ้น
•
นายนิกร แสงเกื้อหนุน ผอ.รร.ปาดังติณสูลานนท์ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา โรงเรียนมีพื้นที 60 ไร่ มีบุคลากร 15 คน ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย นักเรียนอยู่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี มีเคสที่พบว่าผู้ปกครองขายบุหรี่ไฟฟ้า จึงแก้ไขด้วยการหาทุนเพื่อให้นักเรียนมีเงินรับประทานอาหารกลางวัน จ่ายค่าเดินทางมาโรงเรียน และพูดคุยกับผู้ปกครองสุดท้ายพบว่าผู้ปกครองเลิกขายบุหรี่ไฟฟ้า ในโรงเรียนมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ปลูกผัก และจัดระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนโดยใช้นวัตกรรมต่างๆ มีการพูดคุยในโรงเรียนด้วยภาษาจีน อังกฤษ และมาลายู โดยมุ่งฝึกนักเรียนให้เป็นไกด์นำเที่ยว
•
นางสาวอภิษา มะหะมาน ผู้ประสานงานโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกของพ่อแม่เลิกเหล้า กล่าวว่า โครงการมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครู นักเรียนและผู้ปกครอง ด้วยการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ active learning ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องทั้งปี และมีกิจกรรมที่สอดแทรกไปในแต่ละวัน เช่น การที่ครูกอดนักเรียนทุกวัน การส่งเสริมให้พี่สอนน้อง การส่งเสริมให้นักเรียนได้ปลูกผัก และมีกิจกรรมจดหมายสื่อรักที่ลูกเขียนจดหมายเพื่อขอให้ผู้ปกครองเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
•
นายมาโนช กลางแท่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ภาคราชการการจะขับเคลื่อนงานได้สำเร็จต้องพึงเครือข่าย โดยเฉพาะการเคลื่อนตามหลัก “บวร” และการทำงานจะพยายามสร้างการเปลี่ยนพฤติกรรมเช่น เปลี่ยนรูปแบบการปรุงอาหาร เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหาร และตลาดควรรับผิดชอบในการส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ
•
นายประกาศิต ทองอินศรี หัวหน้าแกนนำพี่เลี้ยงจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ด้วยตนเองเป็นครูเกษียณ จึงมีเวลาว่างที่จะไปสอนในชุมชนต่างๆ โดยเริ่มจากชุมชนที่มีความเข้มแข็งก่อน ซึ่งทำให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลงได้ชัด เช่น การเปลี่ยนพื้นที่กองขยะจนกลายเป็นแปลงผักจำนวน 3 งาน
•
นายสมพงษ์ จิริสิภากร นายกเทศมนตรีตำบลกำแพง อําเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ได้จัดงานมหกรรมอาหารปลอดภัยรณรงค์ให้ความรู้แก่พ่อแม่มีการส่งเสริมการจัดกิจกรรมของนักเรียนมากขึ้น เช่น การประกวดภาพวาด นอกจากนี้ยังมีการตรวจร้านค้าที่มาขายอาหารว่าต้องปลอดจากสารเคมี โฟมและแอลกอฮอล์
•
นอกจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินการในแต่ละพื้นที่แล้ว ที่ประชุมมีข้อสรุปในการขับเคลื่อนร่วมกัน คือ (1) ร่วมกันพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเมืองที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน (2) ร่วมกันออกแบบให้มีพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นตัวตั้ง (3)ร่วมกันออกแบบเมืองให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการมีพื้นที่ปลอดภัย อาหารที่ปลอดภัย พื้นที่แหล่งเรียนรู้ พื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนได้เล่นและพัฒนาศักยภาพตนเองในทุกมิติ (4)ร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเมืองที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน (5)ร่วมกันสื่อสารบทเรียนข้อค้นพบเพื่อให้สังคมร่วมกันเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางสังคมให้เอื้อต่อการเติบโตของเด็กและเยาวชน