X
แพทย์ ระบุ ไข้หวัดมะเขือเทศ เชื้อคล้ายโรคมือเท้าปาก พบในผู้ใหญ่

แพทย์ ระบุ ไข้หวัดมะเขือเทศ เชื้อคล้ายโรคมือเท้าปาก พบในผู้ใหญ่

29 ส.ค. 2565
1340 views
ขนาดตัวอักษร

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านไวรัส เผย ไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) ที่ระบาดในอินเดีย มีลักษณะคล้าย 3 โรคระบาดในไทย 1.ไข้ปวดข้อยุงลาย, 2.ไข้เลือดออก และ 3.โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งไทยเคยระบาด พ.ศ. 2555 และพบในผู้ใหญ่ แต่มีสายพันธุ์ที่น่าห่วง ซึ่งก่อโรครุนแรง เฉพาะในเด็กเล็ก โรคสมองอักเสบ และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เมื่อวานนี้ (28 ส.ค. 2565) กล่าวถึง ไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) ดังที่เป็นข่าว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า

ที่มีการกล่าวถึง ไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย เมือง Kerala ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ร่วมร้อยคน และยังมีการพบเพิ่มเติมที่เมือง Tamil Nadu และ Odisha

การตั้งชื่อ ไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะเด็กที่ป่วย จะมีลักษณะ ผื่นแดง เป็นตุ่มน้ำ คล้ายมะเขือเทศ ลักษณะอาการ จะมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และต่อมา มีผื่นขึ้น ผื่นที่ขึ้น จะมีลักษณะแดง และเป็นตุ่มน้ำ โรคไม่รุนแรง และหายได้เอง ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต



จากการสันนิษฐาน ลักษณะอาการคล้าย ไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya), ไข้เลือดออก, มือเท้าปาก ที่จริงแล้ว การตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุไวรัสในปัจจุบัน ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดีย น่าจะรู้แล้วว่า เกิดจากไวรัสตัวไหน แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีประกาศออกมาเป็นทางการ

จากที่ผมได้ติดตาม และดูลักษณะผื่น ที่ขึ้นจากรูปถ่าย ที่รายงานตามหนังสือพิมพ์ของอินเดีย แทบจะบอกได้เลยว่า ลักษณะนี้ คือ ผื่นที่ขึ้นเหมือนกับ โรคมือเท้าปาก ที่พบในบ้านเรา โดยเชื้อหลักของลักษณะผื่นแบบนี้ คือ Coxsackie A6 ลักษณะผื่น ๆ ที่ขึ้นที่มือ ที่เท้า ที่ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และถ้าเป็นมาก ก็จะดูค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของเชื้อไวรัส CA6 ที่เราได้ติดตามมา ตั้งแต่ปี 2012 เคยระบาดในบ้านเรา



และในปีนี้ ในบ้านเรา ก็ระบาดด้วยสายพันธุ์ CA6 และมีลักษณะผื่น ค่อนข้างรุนแรง ดังแสดงในรูป เป็นโรคมือเท้าปาก ที่พิสูจน์แล้วว่า เป็น จากเชื้อไวรัส CA6 ส่วนมากเป็นในเด็ก แต่ก็เคยพบในผู้ใหญ่ รูปที่แสดง เป็นโรคมือเท้าปาก เชื้อ CA6

ส่วนไข้ปวดข้อยุงลาย เท่าที่ติดตามอยู่ขณะนี้ ในเด็กเล็ก จะมีอาการปวดข้อน้อยมาก ไม่เหมือนผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ

เราคงต้องติดตามว่า ไวรัสที่เกิดในอินเดีย เกิดจากตัวไหน จากการคาดการณ์ของผม เชื่อว่า เกิดจากเชื้อไวรัส Coxsackie ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิด โรคมือเท้าปาก และไม่รุนแรง ไม่เหมือนเชื้อ enterovirus A 71 ที่อาจทำให้เกิดสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan (ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ)
https://www.facebook.com/yong.poovorawan



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)