เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2564 วันธรรมดาวันหนึ่งในยุคสมัยที่คนกลัวโรคระบาดโควิด-19 พอๆ กับกังวลว่าน้ำจะท่วมบ้านหรือไม่ วันนี้ เมื่อ 45 ปีที่แล้ว วันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานการณ์ในวันนั้นคล้ายๆ กับวันนี้ ตรงที่การขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตยมาจากคนในรั้วมหาวิทยาลัยคล้ายกับกระบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในวันนี้ที่มีแกนหลักมาจากนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชน
ไม่รู้ว่าจุดจบของกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยตอนนี้จะจบแบบไหนถ้ามองจาก 6 ตุลา 64 กลับไปที่ 6 ตุลา 19 วันล้อมปราบอาจจะผ่านมาแล้วผ่านมานาน แต่มันไม่เคย จบ ไปจากสังคมไทย กระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย
หลัง 6 ตุลา 19 ยังมี พฤษภา 35 ยังมีกระบวนการขับเคลื่อนด้วยประชาชนด้วยการชุมชนของทุกสีเสื้อสีมาจนถึงเวลานี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกันมาตลอด คงต้องรอดูกันต่อไปว่า กระบวนการล่าสุดจะจบอย่างไร บทเรียนในอดีต อาจะเอามาอนุมานจุดจบได้ แต่เมื่อบริบททางสังคมแต่ละช่วงเวลามี เงื่อนไข ไม่เหมือนกันเราไม่อาจบอกได้ว่าที่สุดแล้วจะเกิดอะไร
ทุกครั้งที่นึกถึง 6 ตุลาคม 2519 มี 2 เรื่องที่ต้องนึกถึง คือ "ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง" ของ อัศศิริ ธรรมโชติ กับ "บทกลอนเจ้าขุนทอง" ของสุจิตต์ วงศ์เทศ "เจ้าขุนทอง" ถูกสร้างขึ้นเป็นตัวแทนของของวัยรุ่น ผู้แสวงหาและต่อสู้เพื่อ สิทธิ เสรีภาพที่เท่าเทียมกันในสังคม ตอนหนึ่งของงานเขียนที่อัศศิริ ธรรมโชติ เขียนถึงขุนทองนักต่อสู้จับใจคนรุ่นหลังเสมอ
เจ้าขุนทอง มันสะพายย่อม ทิ้งเรือนหายลับไปนับแต่กลางฤดูฝนปีที่แล้ว โดยไม่ร่ำลาอาลัยและโดยไม่บอกให้ใครแม้แต่แม่รู้ ข่าวว่ามีคนเห็นมันกลั้นสะอื้นไปคนเดียวด้วยสองมือว่างเปล่า เข้าไปในป่าอันอ้างว้าง-มืดมน .... "ดาบล่ะ ! เอ็งไม่เอาไปด้วยหรือ?" คนสวนทางทักถาม "ไม่ต้อง ข้าไปหาเอาข้างหน้าได้" เจ้าขุนทองมันว่าอย่างนั้น ก่อนจะสะบัดหน้าแล้วเดินหายเข้าป่าไป!"
แม่ลงเรือพาย ทวนกระแสน้ำในลำคลองที่ไหลระเรื่อย อ่อนรา ด้วยน้ำน้อย ฝนแล้งนั้นไปอย่างช้าๆเมื่อฟ้าสาง ตรงข้ามกับหัวใจที่ร้อนรนรีบเร่งล่วงไปแล้วข้างหน้า คือศาลากลางเมืองที่เขาจัดไว้ รอรับให้เจ้าขุนทองมันกลับมา...ใยจะไม่ดีใจ ใยไม่อยากเห็นหน้า ก็มันร่วมปีแล้วละนี่ ที่มันได้จากบ้านไป แม่วาดภาพลูกชายในห้วงคิดคำนึง พลางหันหน้าบอกบ่าวให้เร่งฝีพายมันเร็วขึ้น "ถ้าขุนทองไม่กลับมาล่ะ แม่เฒ่า?" บ่าวฝีพายเอ่ยถาม "กลับซี ! มันต้องกลับ...มันต้องคิดถึงแม่ ข้ารู้ใจ" แม่ยืนยันถ้อยคำกับบ่าวในบ้านอย่างแข็งขัน แต่สีหน้าปีตีผันแปรเปลี่ยนเป็นสลดซีดลงอย่งสังเกตเห็นได้ชัด "ถ้าขุนทองไม่กลับมา!"คำนี้สะดุดหัวใจนักแล้ว ยิ่งนึกถึงตอนที่ขุนทองมันร้องไห้ ในวันเกิดเหตุใหญ่ แล้วแม่ยิ่งใจหายนัก!" ยังจะได้ว่าก่อนมันจะหายหน้าไป มันนอนร้องไห้รำพันอยู่ในเรือนจนดึกดื่น แม่รู้ว่า ขุนทองมันโกรธ มันน้อยใจ-แต่มันน้อยใจใคร โกรธใครจนป่านนี้ แม่ไม่รู้ อดนึกย้อน สะท้อนใจ สงสัยไปถึงความโกรธ ความน้อยใจของเจ้าขุนทองมันไม่ได้ว่า ทำไมหนอมันถึงได้มากมาย ถึงกับมันต้องตัดใจ ทิ้งถิ่นฐาน บ้านช่อง และทิ้งไม่ไปได้-ทิ้งความสุขใจชายคาบ้านไปเคว้งคว้างอยู่กลางป่า เป็นปฏิปักษ์ต่อบ้านเมืองให้กฎหมายลงทัณฑ์
ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 "ขุนทอง" คือ ตัวแทนชะตากรรมของนักสู้มือเปล่าที่ต่อสู้และเรียกร้องในสิ่งที่ "เชื่อ" และ "หวัง" เพื่อจะให้มีกับสังคมไทย ขุนทอง เผชิญชะตากรรมจากความรุนแรง เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 หาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต ไม่ถูกซ่อนแอบเอาไว้เหมือนเมื่อนานมาแล้ว แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมานานแต่ขุนทอง ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยเรื่อยๆ นั่นหมายถึง กระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยยังคงเกิดขึ้นและดำเนินอยู่ต่อไป
"ขุนทอง" ในยุค New Normal ไม่ต้องสะพายย่ามหาดเสี้ยว แต่ต้องมีหน้ากากกันแก๊สน้ำตา มีน้ำเกลือไว้ล้างตา ลาแม่ไปม็อบแต่ไม่ได้ไปเลย ไม่ได้เข้าป่า ไปเย็นๆ ค่ำๆ กลับ ขุนทองยังคงต่อสู้กับ ความคิด และเรียกร้องในสิ่งที่"เชื่อ" ของตัวเอง ความหวังกับความต้องการ ที่จะเห็นสังคมเป็นไป ไม่เหมือนกันตามบริบทของสังคม นี่แหละคือ ประชาธิปไตย