แมลงตัวจิ๋ว ที่แม้ว่า หน้าตาไม่น่ารักนัก.. แต่ใช้น้องทำเงิน สร้างรายได้ เป็นกอบเป็นกำได้ไม่ยาก ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่ แนะให้เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สำหรับแปลงพืชสวน ที่ไม่ออกลูกออกผล แนะนำแมลงเศรษฐกิจ สายพันธุ์นี้ “ครั่ง” แมลงที่ผลิตยาง หรือชัน ไปใช้ในอุตสาหกรรม ได้หลากหลายด้าน และงานวิจัย (เบื้องต้น) คาดการณ์ผลผลิต 5 กิโลกรัมต่อต้น มีราคารับซื้อครั่ง 130 - 145 บาท/กก.
โดยวันนี้ (10 พ.ย. 2565) ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านแมลงเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่ ระบุว่า ได้ลงพื้นที่ติดตาม แปลงวิจัยครั่ง จังหวัดลำปาง และในพื้นที่ศูนย์ฯ เพื่อเตรียมความพร้อม การปล่อยเชื้อพันธุ์ครั่ง ในเดือนธันวาคม 2565
ซึ่งเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 นายธนพงศ์ สำเภาลอย ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านแมลงเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ มอบหมายให้ ว่าที่ร้อยตรีหญิงเกศนาฏ กลิ่นทอง นักวิชาการ ส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ลงพื้นที่ติดตาม แปลงวิจัยครั่ง จังหวัดลำปาง และในพื้นที่ศูนย์ฯ ดำเนินการติดแท็กต้นจามจุรี ในงานวิจัย การผลิตเชื้อพันธุ์ครั่ง บนต้นจามจุรี ที่ปลูกระยะชิดในเชิงพาณิชย์ และเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต ของต้นจามจุรี เพื่อเตรียมความพร้อม การปล่อยเชื้อพันธุ์ครั่ง ในเดือนธันวาคม 2565 นี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า การติดตามผลการดำเนินงาน การปล่อยเชื้อพันธุ์ครั่ง บนต้นถั่วมะแฮะ และต้นลิ้นจี่ ในพื้นที่ โครงการร้อยใจรักษ์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
โดยแปลงถั่วมะแฮะ ที่มีการปล่อยเชื้อพันธุ์ครั่ง เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2564 ได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 200 กรัมต่อต้น ถ้าปลูกถั่วมะแฮะ 1 ไร่ จะสามารถผลิต เชื้อพันธุ์ครั่งได้ 160 กิโลกรัม ซึ่งนำไปปล่อย ต้นลิ้นจี่ได้ 266 ต้น ส่วนครั่งบนต้นลิ้นจี่ ที่เก็บผลผลิตได้ทั้งหมด 20 ต้น ได้ผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 5.6 กิโลกรัม และได้ผลผลิตรวม 112 กิโลกรัม คาดว่าจะจำหน่ายครั่งได้ 16,240 บาท (ราคารับซื้อครั่ง 145 บาท/กก.) และเก็บเชื้อพันธุ์ ไว้ปล่อยรอบถัดไป ในปลายปีนี้ จำนวน 10 ต้น ทั้งนี้ มีเกษตรกรให้ความสนใจ เป็นจำนวนมาก
และย้อนไป เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก เปิดเผยไว้ว่า การติดตามผลการดำเนินงาน การปล่อยเชื้อพันธุ์ครั่ง บนต้นถั่วมะแฮะ และต้นลิ้นจี่ ในพื้นที่ โครงการร้อยใจรักษ์ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
โดยแปลงถั่วมะแฮะ ที่มีการปล่อยเชื้อพันธุ์ครั่ง เมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2564 จากการสังเกต พบว่า ครั่งมีการเจริญได้ดี และได้ให้คำแนะนำ ในการใช้เป็นเชื้อพันธุ์ครั่ง ในรอบปลายปีนี้ ส่วนแปลงลิ้นจี่ มีการเจริญเติบโตครั่ง ในสภาพที่สมบูรณ์ รังหุ้มรอบกิ่ง คาดการณ์ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 5 กิโลกรัมต่อต้น คิดเป็น 270 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 35,100 บาท (ราคารับซื้อครั่ง 130 บาท/กก.) ได้แนะนำให้ตัดขาย และแบ่งไว้ทำเชื้อพันธุ์ รอบถัดไป
นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจพื้นที่ขยายผล การปล่อยครั่ง ในแปลงลิ้นจี่ ที่ไม่ให้ผลผลิต อีกจำนวน 3 จุด ต้นลิ้นจี่ประมาณ 300 ต้น ซึ่งเกษตรกรได้ให้ความสนใจ และจะปล่อยครั่งในปลายปีนี้
สำหรับแมลงครั่ง (ตัวจิ๋ว) ซึ่งจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจ ที่มาสร้างรายได้ และเกษตรกรกำลังให้ความสนใจ Backbone MCOT มีข้อมูลจากทาง ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่ ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ แมลงครั่ง ไว้อย่างละเอียดในเว็บไซต์ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านแมลงเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ โดยขอนำข้อมูลบางช่วงบางตอน มาแนะนำดังนี้
ครั่ง คือ ยาง หรือ ชันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารที่ขับถ่าย ออกจากตัวแมลงครั่ง สำหรับแมลงครั่ง จะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ ที่ใช้เลี้ยงครั่ง และใช้ปากเจาะเข้าไปในกิ่งของต้นไม้ เพื่อดูดน้ำเลี้ยงมาเป็นอาหาร และขับถ่ายครั่ง ออกมาจากภายในตัวตลอดเวลา เพื่อห่อหุ้มตัวเป็นเกราะ ป้องกันอันตรายจากสิ่งภายนอก มีลักษณะนิ่มเหนียว สีเหลืองทอง เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็ง และมีสีน้ำตาล ครั่งที่เก็บได้จากต้นไม้ เรียกว่า ครั่งดิบ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เรซิน, ขี้ผึ้ง, สี, ซาก, ตัวครั่ง และสารอื่น ๆ ส่วนที่ใช้เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม คือ สีครั่ง และ เนื้อครั่ง
ปัจจุบัน การซื้อขายครั่ง ได้กระทำกันอย่างกว้างขวาง มีโรงงานผลิตอุตสาหกรรมครั่ง ในประเทศไทยประมาณ 20 โรง ส่วนใหญ่โรงงานเหล่านี้ จะผลิตครั่งเม็ด เพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ และตลาดภายในประเทศ
การเลี้ยงครั่ง เป็นงานทำรายได้ให้แก่ เกษตรกรในชนบทไม่น้อย เหมาะที่จะเป็นอาชีพเสริม เพราะใช้เวลา ในการปฏิบัติงานไม่มากนัก ในปีหนึ่ง ๆ เกษตรกรอาชีพทำนา มีเวลาว่างเหล่านี้ มาทำการเลี้ยงครั่ง จะเกิดประโยชน์หลายทาง เช่น มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้นไม้ ที่สามารถเลี้ยงครั่งได้ ในประเทศไทย มีไม่น้อยกว่า 30 ชนิด ผลผลิตจากต้นไม้เหล่านี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ทางเศรษฐกิจอย่างอื่นได้อีก และที่สำคัญที่สุด การเลี้ยงครั่ง สามารถเพิ่มรายได้แก่ เกษตรกรไม่น้อยในแต่ละปี ถึงแม้ราคาครั่ง จะไม่แน่นอน แต่หากมีการเลี้ยงสม่ำเสมอ มีผลผลิตครั่งทุกปี และใช้ครั่งพันธุ์ของตนเองแล้ว รายได้ก็ยังคุ้มค่า กับเวลาและแรงงาน ที่ใช้ในการเลี้ยง
การใช้ประโยชน์จากครั่ง
การนำครั่ง มาใช้ประโยชน์ในครอบครัว และในทางอุตสาหกรรม ได้กระทำมานานแล้วในอดีต โดยใช้สีแดงจากครั่ง เป็นสมุนไพร สำหรับรักษาโรคโลหิตจาง นอกจากนี้ ยังใช้เป็นสีย้อมผ้าไหม และหนังสัตว์
การใช้ยางครั่ง ได้มีหลักฐานปรากฏ เมื่อ 400 กว่าปีมาแล้ว ในระยะแรก มีการนำยางครั่ง มาทำให้บริสุทธิ์ และนำมาตกแต่งเครื่องใช้ เครื่องเรือนให้สวยงาม ปัจจุบันได้มีการค้นคว้าวิจัย การใช้ประโยชน์จากยางครั่งมากมาย และสามารถพัฒนา เป็นผลิตภัณฑ์ครั่ง เพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมกระดาษ, อุตสาหกรรมเกี่ยวกับ วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า และ อุตสาหกรรมยาง เป็นต้น
อ่านข้อมูล ฉบับเต็ม คลิกที่นี่ > (แมลงครั่ง)
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบบทความ จาก :
เฟซบุ๊ก : ศูนย์ผึ้ง เชียงใหม่
https://www.facebook.com/bee.centercm
เว็บไซต์ : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร
http://www.aopdb04.doae.go.th
10 พ.ย. 2565
2950 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย