จากปริศนา หนูชื่อ อิงมา คือใคร..? และบอกว่า ร่างกายของหนู สร้างขึ้นมาจากคนอายุ 60 50 44 36 15 4 และอีกหลายอายุ รวมถึงจากคนหลายอาชีพ และปริศนานี้ ก็ได้เฉลยออกมาแล้ว ในวันนี้ (15 มิ.ย. 2565) วันไข้เลือดออกอาเซียน
จากที่เฟซบุ๊กหลาย ๆ เพจ ได้เผยแพร่ภาพ และข้อมูล เด็กผู้หญิง ที่ให้ข้อมูลว่า เตรียมพบกับเด็กผู้หญิง ที่มีที่มาจากคนหลายช่วงวัย ทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ และถ้าอยากรู้ว่าทำไม 15 มิถุนายนนี้ พบกัน
ซึ่งในวันนี้ (15 มิ.ย. 2565) เฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ได้โพสต์ข้อมูล พร้อมวิดีโอเฉลยแล้วว่า น้องหนูชื่อ อิงมา คือใคร..? ซึ่งภายในวิดีโอ ระบุว่า น้องอิงมา ..ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็น Virtual Human ที่ถูกสร้างมาจาก เหยื่อของโรคไข้เลือดออก จำนวน 1,237,467 คน เพื่อให้หนูเป็นตัวแทนของพวกเขา บอกพวกคุณที่กำลังดูอยู่ว่า ไข้เลือดออกใกล้ตัว และน่ากลัวกว่าที่คิด ถ้ายังคิดว่า ไข้เลือดออก ไม่เป็นไร เหยื่อรายต่อไปอาจจะเป็นคุณ และช่วงท้ายของวิดีโอ ได้เชิญชวนต่ออีกว่า ติดตามเรื่องจริงของอิงมา และไข้เลือดออก
อ้างอิง กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
และในวันเดียวกันนี้ (15 มิ.ย. 2565) เฟซบุ๊ก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์เผยแพร่ คลิปวิดีโอเดียวกัน โดยมีข้อความ ระบุว่า
นี่คือ #เรื่องจริงจากอิงมา ที่อยากให้ทุกคนรู้ นี่คือเรื่องจริงจาก “อิงมา” Virtual Human คนใหม่ ที่จะทำให้คนไทยทุกคนรู้ว่า โรคไข้เลือดออกใกล้ตัว และน่ากลัวกว่าที่คิด ติดตามเรื่องราวของอิงมา และอัปเดตสถานการณ์ล่าสุด ของโรคไข้เลือดออก ได้ที่ https://ddc.moph.go.th/dvb/ingma
สำหรับที่มาของการกำหนดให้ ทุกวันที่ 15 มิถุนายน เป็น... วันไข้เลือดออกอาเซียน เรื่องนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลที่ได้จากเว็บไซต์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเผยแพร่ผ่านจุลสาร ครสัมพันธ์ โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง จัดทำเป็นบทความ ให้ความรู้ไว้ในโอกาสที่ประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน ครั้งที่ 6 ว่า
สืบเนื่องมาจากทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างเผชิญกับสถานการณ์ โรคไข้เลือดออก ร่วมกัน ภายหลังจากการประชุมรัฐมนตรี สาธารณสุขอาเซียน ที่จัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 2010) ณ ประเทศสิงคโปร์ จึงได้มีข้อตกลงร่วมกันให้ วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาคมอาเซียน ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยให้แต่ละประเทศ ดำเนินกิจกรรมป้องกันควบคุม โรคไข้เลือดออก อย่างต่อเนื่องจริงจัง และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ในนามของอาเซียน
โดยมีกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม คือ
กิจกรรมที่ 1. ในวันที่ 14 มิถุนายน จะมีการจัดประชุมโรคไข้เลือดออก สำหรับสมาชิกอาเซียน และประเทศผู้ให้การสนับสนุน เน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก และการป้องกันควบคุมโรคร่วมกัน
กิจกรรมที่ 2. ในวันที่ 15 มิถุนายน จะมีการจัดกิจกรรม รณรงค์ป้องกันควบคุม โรคไข้เลือดออก ตามบริบทของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชน และชุมชน ตระหนักรู้ปฏิบัติตน ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก
อ้างอิง : จุลสาร ครสัมพันธ์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 มิถุนายน - กรกฎาคม 2559 (ผลิตโดย สำนักงานเลขานุการกรม กรมควบคุมโรค)
คลิกอ่านเพิ่มเติม >> (ครั้งแรกของไทย เจ้าภาพจัดงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน ครั้งที่ 6)
และในปีนี้ (พ.ศ. 2565) ประเทศไทย ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหนึ่ง ในการจัดงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน 2565 (ASEAN Dengue Day 2022) โดยปีนี้ อยู่ภายใต้คำขวัญ นวัตกรรมก้าวไกล ร่วมหยุดภัยไข้เลือดออก ASEAN's Ressilience Against Dengue Amidst COVID-19 Pandemic : Harness Innovation to Stop Dengue ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ในเวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ในเรื่อง นวัตกรรมก้าวไกล ร่วมหยุดภัยไข้เลือดออก ซึ่งมีดารานักแสดงสาวชื่อดัง แพทตี้ อังศุมาลิน ร่วมด้วย หมอฤทธิ์ หรือที่รู้จักในแวดวงนักร้องนักแสดง กับชื่อ ฤทธิ์ เดอะสตาร์ ซึ่งวันนี้ มาในฐานะแพทย์วิชาชีพ ที่มาบอกเล่าถึง วิธีสังเกตอาการป่วย ของผู้เป็นโรคไข้เลือดออก และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลฯคำครั่ง จ.อุบลฯ ซึ่งมาเล่าถึงเครื่องมือ ที่ช่วยให้ชุมชนตำบลคำครั่ง ไม่มีผู้ป่วย โรคไข้เลือดออก ติดต่อกันถึง 3 ปีซ้อน โดยมี หนิง - ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
แพทตี้ - อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา มาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองว่า ครั้งหนึ่งป่วยเป็นไข้เลือดออก จากการไปท่องเที่ยว ซึ่งไม่ได้ไปเที่ยวที่อยู่ในป่า แต่ไปเที่ยวในโรงแรมรีสอร์ท แบบปกติทั่วไป แล้วหลังจากที่โดนยุงกัด 7 วัน อาการป่วย โรคไข้เลือดออก ก็ปรากฏ (สำหรับ การเล่าอาการป่วยของ แพทตี้ สามารถติดตามได้จากลิงก์ อ้างอิงด้านล่างเพจ...)
หมอฤทธิ์ - นพ.เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช ซึ่งหมอฤทธิ์ บอกว่า อาการป่วยที่น้องแพทตี้ เล่ามานั้น มีลักษณะอาการป่วยตามตำราของ โรคไข้เลือดออก ซึ่งอาการป่วยโรคนี้ จะมีอยู่ 3 ระยะหลัก ๆ คือ ระยะแรก เรียกว่า ระยะไข้สูง, ระยะที่ 2 คือ ระยะวิกฤติ เป็นระยะที่จะเกิดภาวะต่าง ๆ ที่ค่อนข้างอันตราย และระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว คือ ระยะสุดท้าย ที่จะหายแล้ว ทั้งนี้ การเล่าอาการป่วยของโรคนี้ หมอฤทธิ์ เผยว่า ในระยะวิกฤติ หากผู้ป่วยไข้เลือดออก มีไข้ลดต่ำลง ซึ่งปกติถ้าป่วยไข้ธรรมดา ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้าเป็นไข้เลือดออก กรณีผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น จะเป็นปัญหาใหญ่ทันที แพทย์จะต้องเฝ้าตรวจอาการตลอดเวลา เพราะอาจกำลังจะเจออาการรุนแรง (สำหรับ การเล่าวิธีสังเกตผู้ป่วย โรคไข้เลือดออก จากหมอฤทธิ์ ติดตามต่อได้จากลิงก์ อ้างอิงด้านล่างเพจ...)
ด้าน นายอุเทน บุญยิ่ง ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำครั่ง จังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวถึง การคาดการณ์ของการระบาด โรคไข้เลือดออก ว่า โดยปกติ ธรรมชาติของโรคไข้เลือดออก จะมีการระบาดในแบบ ปีเว้นปี หรือ ปีเว้น 2 ปี และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปี พ.ศ. 2562 จะมีการระบาดมากที่สุด คือ ประมาณมากกว่า 30,000 ราย แล้วเสียชีวิต 55 ราย และในปีนี้ (พ.ศ. 2565) เริ่มมาถึงตอนนี้ ป่วยแล้ว 3,386 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 5.1 ต่อหนึ่งแสนประชากร และเสียชีวิตแล้ว 3 ราย พร้อมบอกอีกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทุกพื้นที่ มีความเสี่ยงทั้งหมด ขึ้นอยู่กับปัจจัย โดยเฉพาะชุมชนแออัด ชุมชนกึ่งเมือง และในช่วงฤดูฝน จะมีการระบาดสูงสุด
นอกจากนี้ จากข้อมูลที่ชุมชนตำบลคำครั่ง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชุมชนที่ปลอดโรคไข้เลือดออก ติดต่อกันมา 3 ปีซ้อน ในเรื่องนี้ นายอุเทน บุญยิ่ง เล่าให้ฟังว่า ได้มีการใช้เทคโนโลยี มาช่วยในการดูแลเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่าง เช่น อสม.ออนไลน์ ของ เอไอเอส, สมาร์ต อสม. ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และล่าสุด แอปพลิเคชัน รู้ทัน ซึ่งเหล่านี้ ถือเป็นเครื่องมือ ที่จะให้ข้อมูลสถิติ ข้อมูลความรู้ เพื่อใช้ในการดูแลพื้นที่ และช่วยให้เกิดความตระหนัก ในการดูแลตนเอง ป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยการควบคุมลูกน้ำยุงลาย
ดูเพิ่มเติม (คลิปเต็ม) คลิกที่นี่ >> (กิจกรรมรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน 2565)
สำหรับ แอปพลิเคชัน : รู้ทัน ถือเป็นหนึ่งนวัตกรรม ที่ช่วยสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพ จากความร่วมมือของ เนคเทค สวทช. และ กรมควบคุมโรค วิจัยและพัฒนา “ชุดซอฟต์แวร์ทันระบาด” เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวัง การระบาดของโรคไข้เลือดออก ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งมีการนำไปใช้งานกว่า 5 ปี และในปี พ.ศ. 2563 ได้ร่วมกันต่อยอด ทันระบาด ไปสู่ภาคประชาชน ภายใต้แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “รู้ทัน”
อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ >> (รู้ทัน : แอปฯ สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพ)
หน้าเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน รู้ทัน สามารถเข้าไปเลือก ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ App Store และ Google play
คลิกที่นี่ >> (หน้าเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน : รู้ทัน)
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : รู้ทันโรคแมลง โดย กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
https://www.facebook.com/รู้ทันโรคแมลง-114536624576758
เว็บไซต์ : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
https://ddc.moph.go.th/dvb
เว็บไซต์ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
https://ddc.moph.go.th
เฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
https://www.facebook.com/prbangkok
เฟซบุ๊ก : กระทรวงสาธารณสุข
https://www.facebook.com/fanmoph
16 มิ.ย. 2565
1550 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย