ครบรอบ 17 ปี ที่ ‘ดาวพลูโต’ ถูกลดสถานะให้เป็นแค่ ‘ดาวเคราะห์แคระ’ กลายเป็นอดีตดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เนื่องจากสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลนิยามคำว่า “ดาวเคราะห์” ใหม่ และสถานะของดาวพลูโตไม่เป็นไปถามข้อที่สามของนิยามดาวเคราะห์นั่นเอง
รู้จัก “ดาวพลูโต”
“เพอร์ซีวาล โลเวลล์” นักดาราศาสตร์อเมริกัน ตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนที่ดาวเนปจูนและดาวยูเรนัส ถูกรบกวนจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ซึ่งเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ เขาพยายามค้นหาดาวเคราะห์ดังกล่าวอยู่นาน 11 ปี โดยไม่พบอะไรจนกระทั่งเขาเสียชีวิตไปใน พ.ศ. 2459
ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 หอดูดาวโลเวลล์ ที่ก่อตั้งโดยเพอร์ซีวาล โลเวลล์ ได้เริ่มค้นหาดาวเคราะห์ลึกลับอีกครั้ง “ไคลด์ ทอมบอก์” ใช้เวลาราวปีกว่ากับกล้องขนาด 33 เซนติเมตรและเครื่องวัดเทียบกะพริบ จนกระทั่งค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 และได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่เก้าของระบบสุริยะในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2472
1 พฤษภาคม 2473 ประกาศใช้ชื่อ "พลูโต" เป็นชื่ออย่างเป็นทางการ
“พลูโต” มาจากการเสนอของ “เวเนเทีย เบอร์เนย์” เด็กสาวชาวออกฟอร์ดคนหนึ่ง ซึ่งพลูโตเป็นชื่อเทพแห่งใต้พิภพของโรมันผู้ล่องหนได้ เหตุผลดีอีกข้อหนึ่งที่ชื่อนี้ได้รับเลือกก็คือ อักษรสองตัวแรกของชื่อพลูโตคือ พี-แอล ตรงกับอักษรนำของชื่อและสกุลของโลเวลล์ จึงเป็นการให้เกียรตินักดาราศาสตร์คนสำคัญคนนี้ด้วย
ดาวพลูโตมีมวลแค่ 0.07 เท่าของมวลของวัตถุอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกัน มีบรรยากาศหนากว่า 300 กิโลเมตร ในขณะที่โลกมีบรรยากาศหนาเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น การหมุนรอบตัวเองของดาวพลูโตเอียงถึง 120 องศา ในขณะที่โลกเรามีแกนหมุนเอียง 23.5 องศา
นั่นหมายถึงดาวพลูโตหมุนสวนทางกับการโคจรในระบบสุริยะมีเพียงดาวพลูโตและดาวยูเรนัสเท่านั้นที่หมุนแบบเอียงข้างแบบนี้ และการที่ดาวพลูโตมีแกนเอียงมากเช่นนี้ เป็นหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนทฤษฎีว่าดาวพลูโตเคยถูกพุ่งชนครั้งใหญ่มาก่อน
ในปี พ.ศ. 2549 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) ได้กำหนดคำนิยามของ “ดาวเคราะห์” ขึ้นที่กรุงปราก ไว้มีใจความสำคัญอยู่สามข้อสำหรับวัตถุที่จะถูกเรียกได้ว่าเป็นดาวเคราะห์ ดังนี้
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะเป็นเทหวัตถุที่ซึ่ง:
- 1. วัตถุนั้นจะต้องโคจรรอบดวงอาทิตย์
- 2. วัตถุนั้นจะต้องมีมวลมากพอที่จะรักษาสภาพตัวเองให้เป็นทรงกลมได้โดยแรงโน้มถ่วงของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงโน้มถ่วงของวัตถุนั้นควรจะทำให้วัตถุนั้นอยู่ในสภาวะสมดุลอุทกสถิต
- 3. วัตถุนั้นจะต้องไม่มีวัตถุอื่นใดอยู่ในบริเวณเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ “ดาวพลูโต” ไม่เป็นไปตามนิยามข้อที่สาม เนื่องจากมันมีมวลแค่ 0.07 เท่าของมวลของวัตถุอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันซึ่งเล็กมากถ้าเทียบกับดวงดาวดวงอื่นในระบบสุริยะ และจากผลการโหวตในวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2549 ทำให้ “ดาวพลูโต” ถูกปลดออกจากการเป็นดาวเคราะห์ โดยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet)
ขอขอบคุณ