15 พ.ย.65 - งานผ้าไทย เป็นอีกผลิตภัณฑ์ฝีมือคนไทยที่ถูกนำมาใช้จัดงานประชุม APEC2022 ครั้งนี้ หนึ่งในนั้นคือผ้าจากแดนอีสาน ที่ถูกนำมาใช้เป็นเสื้อผ้าของผู้ประกาศสำนักข่าวไทย อสมท ที่มีทั้งความงดงาม ความหมาย และเอกลักษณ์ไทย ที่จะถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลก
การะประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ APEC2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ มีการนำสินค้า วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อทั่วประเทศมาจัดแสดง ตกแต่ง และเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารในทุกมิติ รวมถึงผ้าไทย ที่ไทยขึ้นชื่อในการผลิตงานผ้าท้องถิ่นหลายชิ้นได้รับการนำไปต่อยอดในเวทีแฟชั่นระดับโลก
โดยผู้ประกาศสำนักข่าวไทย อสมท ก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะถ่ายทอดความงดงามของผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่สายตาชาวโลกผ่านการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยพิธีกรชาย สวมใส่เป็นชุดที่เรียกว่า “ผ้าฝ้ายตะหลุง” หรือ “ฝ้ายแม้ว” จากกลุ่มทอผ้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งได้รับอิทธิพลจากฝ้ายพื้นเมืองที่นำมาจากเผ่าแม้ว ใน สปป.ลาว เมื่อประมาณ70 ปีที่ผ่านมา คำว่า “ตะหลุง” เป็นภาษาท้องถิ่นของเผ่าผู้ไท แปลว่า ค่าง เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับลิง แต่หางยาว ลำตัวมีลักษณะสีน้ำตาลปนเทาโดดเด่นสวยงาม
ดังนั้น ฝ้าตะหลุง จึงเป็นชื่อของฝ้ายที่มีสีคล้ายสีขนของค่าง เผ่าผู้ไท จึง เรียกชื่อฝ้ายชนิดนี้ว่า ฝ้ายตะหลุง สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับผ้าฝ้ายชนิดนี้ยังพิเศษหากโดนแดด หรือใช้ไปนาน ๆ สีจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นความสวยงามที่ไม่เหมือนใครจริง ๆ
ส่วนเสื้อผ้าพิธีกรหญิง นั่นสวยงามต่างไปอีก เรียกว่า “ผ้าฝ้ายดักแด้ทอมือ” จากจังหวัดสกลนคร ผ้าชนิดนี้ ทำจากเส้นฝ้ายที่มีความเงา ให้ความเงาคล้ายไหม 6 เส้นเล็กรวมกันเป็น 1 เส้นเพื่อนำมาทอกลายเป็นผืนผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะบางที่เรียกไหมดักแด้ บางที่ก็เรียกดักแด้ บางที่ก็เรียกฝ้ายดักแด้ สำหรับผ้าชื่อดังจากจังหวัดสกลนคร นี้ ใช้วิธีการทอลายหมี่ขั้นสีพาสเทล ได้ความดั้งเดิมผสมกับยุคสมัยใหม่ เพิ่มจุดเด่นโดยการแต่งแขนด้วยผ้าออแกนดี้ พัฒนามาเป็นแฟชั่นที่สวมใส่ได้ทุกช่วงเวลา
ขอบคุณ
- ผ้าตะหลุงออกแบบและการตัดเย็บเสื้อผ้าพิธีกรชายจากร้านกินรีญา fb.me/kinnareeya63
- ผ้าดักแด้ทอมือ จากร้านลายไทยบูติก
- FB : Laithaiboutique
- IG : Laithaiboutique