X
น้องคือ สัตว์ป่าชนิดใหม่ ของประเทศไทย กบอกหนาม ?

น้องคือ สัตว์ป่าชนิดใหม่ ของประเทศไทย กบอกหนาม ?

29 พ.ค. 2565
3250 views
ขนาดตัวอักษร

ใจไม่แข็ง ..ให้รูดผ่านไปนะครับ.. น้อง อาจดูไม่น่ามอง.. แต่นี่คือ ความหลากหลายทางธรรมชาติ มาไขข้อสงสัยนี้ด้วยกัน สัตว์ป่าชนิดใหม่ของไทยกับ กบ.. อกหนามน่าน Quasipaa veucospinosa

ทำไมถึงชื่อว่า กบ.. อกหนาม พวกมันมีหนาม ไว้เพื่ออะไร ?

เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทย ได้มีงานวิจัย ค้นพบ "กบ อกหนาม น่าน" ชื่อวิทยาศาสตร์ Quasipaa veucospinosa ซึ่งเป็นรายงาน การค้นพบสัตว์ป่า ชนิดใหม่ ของประเทศไทย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดอยภูคา จ.น่าน เพราะโดยปกติแล้ว กบชนิดนี้ จะพบในประเทศลาว, เวียดนาม และมณฑลยูนนาน ของประเทศจีนเท่านั้น และจากการสำรวจของ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า คาดว่า กบชนิดนี้ มีการกระจายพันธุ์ ในพื้นที่อื่น ที่ใกล้เคียงเช่นกัน เพราะสามารถพบกบชนิดนี้ใน อุทยานแห่งชาติ ถ้ำสะเกิน จังหวัดน่าน และพะเยา อีกด้วย



ในอดีตนั้น ประเทศไทย เรามีรายงาน การพบ กบ อกหนาม เพียงชนิดเดียว คือ กบ อกหนาม จันทบูร (Quasipaa fasciculispina) ซึ่งพบในป่าบนภูเขา ทางภาคตะวันออกของไทย แต่จากลักษณะที่แตกต่างกันมาก และจากการศึกษา สารพันธุกรรม (DNA) จึงทำให้ทราบว่า กบ อกหนาม ที่พบทางภาคเหนือของไทยนั้น เป็นชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยถูกค้นพบ ในไทยมาก่อน
 
โดยที่มาของชื่อ "กบอกหนาม" นั่นก็เพราะ ลักษณะเด่นของกบในกลุ่มนี้ ที่เพศผู้ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ผิวหนังที่บริเวณอก ของพวกมัน จะเปลี่ยนสภาพเป็นตุ่ม หรือ แท่งหนามสีดำ เพื่อใช้ยึดเกาะเพศเมีย ในการสืบพันธุ์ และพื้นผิวหินในลำธาร ที่มีน้ำไหลนั่นเอง โดย... ตุ่ม หรือ แท่งหนามเหล่านี้ จะหายไป เมื่อพ้นฤดูสืบพันธุ์

การค้นพบนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยัน ความหลากหลายทางชีวภาพ ของสัตว์ป่าในประเทศไทย ซึ่งยังมีความอุดมสมบูรณ์ได้ดี โดยเฉพาะ ในพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ป้องกันดูแลอย่างเข้มแข็ง ทำให้ผืนป่า และสัตว์ป่า ได้ยังประโยชน์ ต่อมนุษย์ได้ตลอดไป

ลักษณะภายนอกของ กบอกหนามน่าน เพศผู้มีขนาดตั้งแต่ 99.1 - 116.8 มม. เพศเมียขนาด 83.4 - 116.6 มม. ตัวค่อนข้างอ้วนกลม หัวกว้าง รูจมูกค่อนข้างกลม พื้นผิวด้านแผ่นหลังหยาบมาก ปกคลุมด้วยสัน และปุ่มสั้นหนา สีเข้มถึงดำ กระจายทั่วไป และสีของตุ่มสันนี้ จะจางลงเมื่ออยู่ข้างลำตัว บางตัวมีแท่งหนามบนตุ่มสันนี้ด้วย ผิวหน้าท้องเรียบ สีครีม หรือขาว โดยทั่วไปลำตัว สีน้ำตาลอมเทา หรือเหลืองอมสีเขียวเข้ม

และ จากการสำรวจของ นักวิจัยในภาคเหนือ ของประเทศไทย มีรายงานการพบ กบอกหนามน่าน Quasipaa verrucospinosa ที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน จังหวัดน่าน ที่ระดับความสูง 900 - 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในบริเวณลำธารน้ำไหล ที่มีโขดหินขนาดใหญ่ ในป่าดิบเขา หรือ ป่าดิบเขาตอนล่าง ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้ บางส่วนเป็นพื้นที่ ใกล้กับขอบป่า ดังนั้นจึงเป็นไปได้ ที่กบชนิดนี้ จะถูกคุกคาม เพื่อการบริโภค และการสูญเสียที่อยู่อาศัย ทั้งจากการบุกรุกทำลายป่า หรือจากตะกอนดิน ที่เกิดจากการบุกรุกพื้นที่ ทำให้ลำธาร ที่พวกมันอาศัยอยู่ เปลี่ยนแปลงสภาพไป



IUCN ได้จัดให้ (กบ อกหนาม น่าน) อยู่ในสถานภาพ ใกล้ถูกคุกคาม ดังนั้นเราทุกคน ต้องช่วยกันในการรักษา ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ให้คงอยู่ต่อไป

หยุดตัดไม้ - ทำลายป่า หยุดล่า ค้า บริโภคสัตว์ป่า

สำหรับภาพที่แสดง เป็นรูปภาพของ กบอกหนามน่าน Quasipaa verrucospinosa สถานที่ อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน

ข้อมูลดี ๆ เรื่องความรู้สัตว์ป่า และวิธีของธรรมชาติ กับการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถติดตามหาความรู้เพิ่มเติม ได้ที่ เว็บไซต์และเฟซบุ๊ก กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division


อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division
https://www.dnp.go.th/Wildlife/indexpageall.htm

เฟซบุ๊ก : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า Wildlife Research Division
https://www.facebook.com/wrddnp



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)