นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประเมินเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐานWeb Content Accessibility Guidelines (WCAG) ในการดำเนินโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) ครั้งที่ 2/2565
โดยมีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ แนวทางการประเมินผลและให้คะแนนการประกวดหน่วยงานที่ดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน WCAG และนำหลักเกณฑ์ไปใช้ในการประเมินผลการประกวด หน่วยงานที่ดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายภุชพงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ วันนี้ ได้มีการพิจารณา (ร่าง) หลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการประเมินผลการประกวดหน่วยงานที่ดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) (ฉบับปรับปรุง) รวมถึง (ร่าง) รูปแบบการกำหนดรางวัลให้แก่หน่วยงานที่มีผลการปฎิบัติที่ดีเยี่ยมจากการดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ให้เป็นไปตามมาตรฐานฯ (ฉบับปรับปรุง)
ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นกลไกกระตุ้นการส่งเสริมให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐ ได้ตระหนักถึงปัญหา อุปสรรคในการเข้าถึงเว็บไซต์ของคนทุกกลุ่มที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ และเร่งการยกระดับคุณภาพของเว็บไซต์ของหน่วยงานภายใน การจัดลำดับกลุ่มของ Web Accessibility ทั้งในระดับกรม และกระทรวงฯ เพิ่มขึ้น
ในปี 2565 สดช. ได้ดำเนินการตรวจสอบเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานระดับ กรม จำนวน 411 หน่วยงาน พบว่ามีสัดส่วนของเอกสารและเว็บไซต์สาธารณะที่คนพิการสามารถเข้าถึง และใช้ได้ เป็นไปตามมาตรฐานด้านการเข้าถึง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จำนวน 242 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 58.82%
โดยมีหลักเกณฑ์หลักๆ และวิธีการในการตรวจสอบ ดังนี้ 1.การตรวจสอบรายการ (Checklist) เป็นการตรวจสอบโดยไม่ใช้เครื่องมือ (Manual) ซึ่งยึดหลักการตรวจสอบเว็บไซต์ตามแนวทางการตรวจสอบ มาตรฐานสากลของ WCAG ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยอิงตามมาตรฐานสากล สามารถตรวจสอบโดยการนำแนวทาง หลักการ ข้อแนะนำ และเกณฑ์ความสำเร็จมาใช้ประเมินเว็บไซต์ โดยแบ่งออกเป็น 4 หลักการ ได้แก่ ให้ผู้ใช้รับรู้ได้ (Perceivable), ให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ (Operable), ให้ผู้ใช้เข้าใจได้ (Understandable) และให้เนื้อหามีการรองรับเทคโนโลยีที่หลากหลาย (Robust)
2.การตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือในการตรวจสอบตามที่ World Wide Web Consortium (W3C) ได้ แนะนำในตรวจสอบความถูกต้องของ Web Content Accessibility Guidelines โดยใช้ https://achecker.achecks.ca และhttp://validator.w3.org ในการตรวจสอบหน่วยงานทั้ง 411 หน่วยงาน และ 3.จากการตรวจสอบ โดยใช้หลักเกณฑ์ความสำเร็จระดับเอ (Level A) ซึ่งเป็น แนวทางขั้นต่ำสุดที่ต้องทำ เพื่อให้ทราบข้อบกพร่อง (Error) สำหรับการเข้าถึงเนื้อหาในเว็บไซต์ และการตรวจสอบโดยไม่ใช้เครื่องมือ (Manual)
“หลังจากนี้คณะกรรมการประเมินเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ตามมาตรฐาน Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) จะประกาศเชิญชวนหน่วยงานรัฐเข้าร่วมดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์ให้ทุกคนสาธารณะเข้าถึงได้ รวมถึงกลุ่มผู้พิการซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานด้านการเข้าถึงในระดับสากล เพื่อส่งเข้าร่วมการประกวด หลังจากนั้นจะประกาศผลหน่วยงานที่ได้รับรางวัลต่อไป เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจให้หน่วยราชการเร่งยกระดับคุณภาพเว็บไซต์ เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง” นายภุชพงค์กล่าว
นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนงานสนับสนุนในส่วนการสร้างความตระหนัก และพัฒนาความรู้เพื่อให้บุคลากรในหน่วยงานรัฐทราบแนวทางวิธีการในการปรับปรุงและสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจ ในการพัฒนาเว็บไซต์หน่วยงานตามมาตรฐานWCAG โดยจะมีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภายในสังกัด ตามหลักสูตรดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) จำนวน 450 คน ตลอดจนจัดงานสัมมนาเพื่อสร้างแรงจูงใจและสร้างความตระหนักรู้ให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนพัฒนาเว็บไซต์ของหน่วยงานตามแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้