ผัดไทย ประตูผี ร้านผัดไทยรสเด็ด เก่าแก่ชื่อดังระดับประเทศ เวลาปกติเราจะเห็นนักท่องเที่ยวเข้าคิวยาว ริมถนนหน้าร้านตรงนั้นคือย่านสำราญราษฎร์ ทำไมคนไม่เรียก ผัดไทยสำราญราษฎร์ เพราะประตูผีทำให้นึกถึงความน่ากลัวมากกว่า คนจำชื่อย่านประตูผีจนคุ้นชิน
เคยถามนักท่องเที่ยวว่า เขาเรียกร้านผัดไทยร้านนี้ว่าอะไร ส่วนใหญ่จะบอกว่าชื่อ ผัดไทยประตูพี (ฝรั่งออกเสียงไม่ชัด) เรื่องผัดไทยเขาเข้าใจ แต่ประตูพี (ประตูผี) คืออะไรก็ต้องอธิบายว่า GhostDoor ฝรั่งยิ่งงง ประตูผีสิงเหรอ อยู่ไหนละพาไอไปดู ? ก็ต้องอธิบายยาว
ประตูเล็กๆ ข้างวัดเทพธิดาราม ที่รู้จักกันดีในชื่อประตูผี ทำไปต้องมีประตูผีตรงนั้น ทำความเข้าใจง่ายๆ ความเชื่อเกี่ยวกับเมืองในสมัยโบราณ เขาจะไม่ทำพิธีศพหรือเผาผีในเมือง ถ้ามีคนตายและไม่ใช่เจ้านาย จะต้องเอาศพออกไปทำพิธีนอกกำแพงเมือง กำแพงเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ทางที่อยู่ใกล้ประตูผีที่เรากล่าวถึงก็คือแนวกำแพงจากป้อมมหากาฬ ตรงเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศที่เรายังพอมองเห็นแนวกำแพงกับตัวป้อมอยู่ถึงตอนนี้ ประตูนี้สมัยก่อนใช้ลำเลียงเอาศพคนตายออกไปทำพิธี จึงเป็นประตูเล็กๆ พอให้นำศพผ่านออกไปได้
แล้วทำไมไม่เอาศพออกทางประตูเมือง ? ประตูเมือง กับประตูผี ต่างกันครับ อธิบายง่ายๆ ประตูเมือง เป็นประตูสำหรับคนเป็น ประตูผีสำหรับคนตายประตูเมืองจะมีการลงคาถาอาคมป้องกันภูตผีปีศาจ วิญญาณร้าย อัปมงคง อัปปรีย์ ฯลฯ เข้ามาในเมือง ถ้าเอาศพออกทางประตูเมืองก็จะเกิดความเสียหายครับ ประตูผี เขาไม่ลงอาคม ไม่งั้นจะเอาศพหรือเอาผีออกไปไม่ได้
แล้วทำไมต้องไปอยู่ตรงนั้น การวางตำแหน่งประตูผี ของกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ได้ซี้ซั้วกำหนดเองตามใจชอบ ที่ประตูผี ต้องไปอยู่ตรงนั้น เพราะสมัยก่อนเมื่อสร้างกรุงเทพฯ (จินตนาการตามนะครับ แต่ก่อนไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างมากมายแบบทุกวันนี้ ) มีพระบรมมหาราชวัง มีวัด มีวังเจ้านาย มีสถานที่ทำการของราชการ แล้วก็มีแต่พื้นที่โล่ง ไม่มีถนนเหมือนทุกวันนี้ ตรงใกล้ๆกับประตูผี มีคลองคูเมืองเดิม พอข้ามมาก็เจอกำแพงเมือง นอกกำแพง มีวัดสระเกศมีสุสานและสถานที่ประกอบพิธีศพ อยู่ตรงนั้น คงเคยได้ยิน ตำนาน แร้งวัดสระเกศ ตอนมีโรคระบาดก็เอาศพออกทางนั้นไปทำศพ เผาไม่ทันแร้งก็มากิน
อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ประตูผีไปอยู่ตรงนั้น ที่ไม่ค่อยมีคนรู้หรือพูดถึง คือ ถ้าเอาแผนที่เมืองมากาง แล้วลากเส้นจากประตูผีมาทางพระบรมมหาราชวัง ประตูผีจะตรงกับ โบสถ์วัดพระแก้วพอดี อ้าว!! ทำไมเป็นอย่างนั้น อาจารย์พิเศษ เจียรจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี อธิบายไว้ว่า"ประตูผีจะต้องมีองค์ประกอบร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในตัวเมือง โดยมีทิศทางหันหน้าตรงไปยังช่องประตู ซึ่งให้ความหมายเกี่ยวกับความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมืองภายใต้การปกป้องคุ้มครองของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น"
พอมาสมัยรัชกาลที่ 4 แนวคิดในการให้พระแก้วมรกต ป้องกันสิ่งชั่วร้ายอัปมงคงก็เปลี่ยนไป มีวัด มีศาสนสถานของหลายศาสนา เกิดขึ้นแนวคิดการปกป้องเมืองที่ต้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงกับทางเข้าออกของสิ่งที่อัปมงคลก็เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ทั้งหมดคือคำอธิบาย ทำไมประตูผีถึงไปอยู่ตรงนั้นและสำคัญยังไง ทุกวันนี้ประตูผีก็เหมือนประตูทางเข้าออกข้างวัดธรรมดา และชื่อย่านที่เรียกขานคู่ไปกับร้านอาหารอร่อยชื่อดัง ผัดไทยประตูพี
ขอบคุณข้อมูลจากบทความโดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2546 เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2560
ภาพจาก History of Glass Plate Photography in Siam