X
ยกงานวิจัย.. สยบคำโกหก พืชกัญชาไม่เกี่ยวพฤติกรรมรุนแรง

ยกงานวิจัย.. สยบคำโกหก พืชกัญชาไม่เกี่ยวพฤติกรรมรุนแรง

16 มิ.ย. 2565
1390 views
ขนาดตัวอักษร

ห่วงสังคมไทย ยังเข้าใจผิด ในช่วงกระแสฟีเวอร์ ปลดล็อกพืชกัญชา อาจารย์แพทย์ ออกมาย้ำถึง พิษภัยการใช้ในทางที่ผิด โดยได้ยกข้อมูลผลงานวิจัย ที่จะมา ลบคำโกหกว่า กัญชาไม่เกี่ยวกับ พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ขณะที่อาการเคลิ้มจิต อย. เรียกว่า “อาการบ้ากัญชา”

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เปิดเผยถึงงานวิจัยคนในอเมริกา ที่กัญชามีผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โดยระบุว่า



งานวิจัยลบคำโกหกว่า กัญชาไม่เกี่ยวกับ พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โดยศึกษาในเยาวชน และวัยทำงานในอเมริกา พบว่า ผู้ที่กระทำผิด ที่เกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรง ในรูปแบบต่าง ๆ นั้น จะมีโอกาส ที่จะให้ประวัติเสพกัญชา ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ก่อความรุนแรง ถึง 2.8 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่น ร้อยละ 95 ตั้งแต่ 1.3 เท่า -6.1 เท่า)

สรุปสั้น ๆ : การเสพยาเสพติดอย่างกัญชา มีความสัมพันธ์กับ พฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว

สำหรับงานวิจัยในเรื่อง พฤติกรรมความรุนแรง เกี่ยวข้องกับการใช้พืชกัญชานั้น รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ได้อ้างอิงถึงงานวิจัย ดังนี้

Carter PM et al. Daily patterns of substance use and violence among a high-risk urban emerging adult sample: Results from the Flint Youth Injury Study. Addictive Behaviors. Volume 101, February 2020, 106127.

ทั้งนี้ Backbone MCOT พบว่า มีข้อมูลงานวิจัยดังกล่าว เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ National Library of Medicine National Center for Biotechnology Information ซึ่งเป็นเว็บไซต์ ที่เหล่านักวิชาการ ทางด้านสุขภาพ และเหล่าคุณหมอจากทั่วโลก นำผลงานวิจัยต่าง ๆ หลากหลายด้าน นำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ดังกล่าว รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับพืชกัญชา ที่ผู้ก่อเหตุความรุนแรง กล่าวอ้างการใช้ ก่อนก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ดังนี้



อ้างอิงเว็บไซต์ เผยแพร่งานวิจัยฯ National Library of Medicine National Center for Biotechnology Information
อ่านเพิ่มเติม งานวิจัยฯ คลิกที่นี่ >> (Daily patterns of substance use and violence among a high-risk urban emerging adult sample: Results from the Flint Youth Injury Study)

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย กองควบคุมวัตถุเสพติด ได้ลงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ อย. เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ พืชกัญชา (cannabis sativa) ไว้ก่อนที่พืชชนิดนี้ จะถูกปลดล็อกยาเสพติด 9 มิ.ย. 2565 ซึ่งบทความให้ความรู้เรื่อง พืชกัญชา ได้เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ว่า

ในกัญชามีสารเคมี cannabinoids อยู่จำนวนหนึ่ง โดยสารสำคัญในกลุ่มนี้ ที่เชื่อว่า ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คือ d9 - tetrahydrocannabinol (thc) และสารดังกล่าว จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุ ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในประเภท 1 ตาม พระราชบัญญัติ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 การค้นคว้าเกี่ยวกับฤทธิ์ของ thc นำไปสู่การผลิตยา dronabinol (marinol) ซึ่งมีส่วนผสมของ thc สำหรับใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง ที่รักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เพิ่มความอยากอาหาร ในผู้ป่วยเอดส์

กัญชา นิยมเสพโดยการสูบ ฤทธิ์ของกัญชา เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย จะแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ภายใน 2 - 3 นาที และจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง อาการโดยทั่วไป จะเซื่องซึมลงอย่างช้า ๆ แต่บางราย ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว

ผู้เสพกัญชา จะมีอาการเคลิ้มจิต (euphoric “high” or “stoned”) โดยในขั้นต้น ๆ มักจะเป็นอาการ กระตุ้นประสาท และบางคน จะมีอาการตึงเครียดทางใจ หรืออาการกังวล ต่อมาก็มีอาการ เคลิ้มจิตเคลิ้มใจ ทำให้ผู้สูบรู้สึกว่า บรรยากาศทั่ว ๆ ไป เงียบสงบ จากนั้น มักจะมีปฏิกิริยา ที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เดี๋ยวหัวเราะลั่น เดี๋ยวสงบ เพราะฉะนั้นอาการเคลิ้มจิต จึงควรเรียกว่า “อาการบ้ากัญชา” มากกว่า

อาการอื่น ๆ ที่พบ คือ ผู้เสพ จะรู้สึกล่องลอย, ปากแห้ง, สับสน, อยากอาหาร, ชีพจรเพิ่มขึ้น, ตาแดงขึ้น ในขณะที่เสพยา หากเสพเป็นประจำ จะทำให้สุขภาพเสื่อมลง ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบ, ไซนัสอักเสบทางเดินหายใจอักเสบ, ตะคริว, ท้องร่วง

โดยรวมแล้ว กัญชามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ที่คล้ายกับพวก ยากระตุ้นประสาท (stimulant), ยากดประสาท (depressant), ยาหลอนประสาท (hallucinogen), ยาแก้ปวด (analgesic) และยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (psychotomimetic) หลายประการในยาตัวเดียวกัน มีรายงานการวิจัยว่า lsd มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงเป็น 160 เท่าของ thc และในขนาดใช้ที่ต่ำแล้ว กัญชา และแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์คล้ายกัน คือ ในขั้นต้นนั้น ทั้ง 2 ตัว มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท แต่หลังจากนั้น จะมีฤทธิ์กล่อมประสาท

อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ >> (กัญชา cannabis sativa โดย กองควบคุมวัตถุเสพติด)



อย่างไรก็ตาม นอกจากงานวิจัย ที่ออกมาชี้พิษภัยจากพืชกัญชา มีผลต่อพฤติกรรม ความก้าวร้าวรุนแรงแล้ว Backbone MCOT ยังพบข้อมูลข่าว ที่มีผลความรุนแรงมาจากพืชดังกล่าว แม้ในวันที่ ประกาศปลดล็อกพ้นยาเสพติด 9 มิ.ย. 2565 ซึ่งข้อมูลข่าว ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา (2565) ระบุว่า จังหวัดมุกดาหาร ตำรวจควบคุมตัว หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี เสพกัญชา ดื่มสุรา จนหลอน เดินถืออาวุธ คลั่งทุบทำลายบ้าน พี่ชายพิการ จนพี่ต้องไปอยู่บ้านเพื่อน (อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท)
อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ >> (ข่าว: หนุ่มใหญ่เสพกัญชา-ดื่มสุรา คลั่งทุบทำลายบ้าน)

และอีกข่าวที่เผยแพร่ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ระบุว่า ภายหลังการจับกุม วัยรุ่นอายุ 22 ปี ผู้ก่อเหตุทำร้ายเยาวชน อ้างว่า เมากัญชา ก่อเหตุทำร้ายเยาวชน บนรถเมล์ ย่านเพชรเกษม กทม. เดือดร้อนถึงครอบครัว พยายามขอโทษ ขอไกล่เกลี่ย พร้อมชดใช้ค่ารักษาพยาบาล แต่แม่ผู้เสียหายไม่ยอม และจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด (อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ สำนักข่าวไทย อสมท)
อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ >> (ข่าว: จับแล้วชายถีบหัววัยรุ่นบนรถเมล์ อ้างคิดว่าอริ-เมากัญชา)


อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์)
https://www.facebook.com/thiraw

เว็บไซต์ : สำนักข่าวไทย อสมท
https://tna.mcot.net

เว็บไซต์ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
https://www.fda.moph.go.th



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)