วันหยุดต่อเนื่องนี้ Backbone MCOT มีความรู้ดูสนุก มาแนะนำ เป็นหนังสือออนไลน์ ภาพสวย ข้อมูลน่าสนใจ และ ฟรี !! เพิ่งปรับปรุงใหม่ ประจำปีนี้ (2565) เกี่ยวกับ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ที่อาศัยอยู่ใน ห้วยขาแข้ง จากเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ (ภาพปก) น้องตัวเหมือนงู ไม่ใช่(งู) น้องเป็น..เขียด ? และที่อาจดูคล้าย.. กบ.. (ก็ไม่ใช่) น้องเป็น..อึ่ง ..ได้ไง ?
โดยเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ได้โพสต์เผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า หนังสือ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ห้วยขาแข้ง ฉบับปรับปรุงใหม่ (ปี 2565) ได้แก้ไขเนื้อหา อัปเดตชนิด ตามเอกสารอ้างอิง งานวิจัยต่าง ๆ ให้ทันสมัย เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ
หนังสือ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ห้วยขาแข้ง พิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 2559 โดยจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ขนาด 272 หน้า จำนวน 1,000 เล่ม โดยทีมผู้แต่ง คือ ปิยะวรรณ นิยมวัน, ไพรวัลย์ ศรีสม และปริญญา ภวังคะนันทน์ ในโครงการวิจัย นิเวศวิทยาป่าไม้ระยะยาว โดย ดร.สรายุทธ บุญยะเวชชีวิน หนังสือดังกล่าว ได้จัดแจกให้หน่วยงานราชการ, องค์กรเอกชน ที่ดูแลด้านธรรมชาติ และป่าไม้ และห้องสมุดโรงเรียนที่สนใจ (ไม่ได้มีการจำหน่าย) เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ ด้านธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ที่สำคัญทั้งต่อโลก และของประเทศไทย ให้กับคนไทยได้รู้จัก และเข้าใจสัตว์กลุ่มนี้ เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การรักษาพื้นที่ป่าไม้ ที่เป็นแหล่งอาศัยของพวกมันต่อไป
หนังสืออีบุ๊ก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ห้วยขาแข้ง ฉบับปรับปรุงนี้ เป็นอีกหนึ่งเล่มที่ มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจ ในการศึกษาระบบธรรมชาติ ใช้เป็นเครื่องมือ และแหล่งอ้างอิง อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจ ในการเข้าถึงระบบธรรมชาติ ที่มีความประณีตละเอียดอ่อนนี้ อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ Backbone MCOT ขอนำข้อความ จากบทนำของผู้เขียน เพียงบางช่วงบางตอน มาบอกเล่าเนื้อหาภาพรวมที่น่าสนใจ เพื่อหลายท่าน ที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน และน้อง ๆ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เหล่านี้ ล้วนมีอยู่ในเมืองไทย ซึ่งหากสนใจ น้องตัวไหนเป็นพิเศษ แนะนำติดตามสอบถาม ไปที่ผู้เขียน น่าจะได้ความรู้แบบเจาะลึก จากกูรูตัวจริง และเนื้อหาแบบย่อ ๆ จากบทนำของผู้เขียน มีดังนี้
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก คืออะไร ? ผู้เขียน ได้อธิบายว่า คนทั่วไป มักนึกถึง สัตว์ที่ลำตัวมีเมือก..ลื่น อาศัยได้ทั้งในน้ำ และบนบก บางคนเรียก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แต่โดยความหมายที่แท้จริง มีที่มาจากวงจรชีวิต คือ สัตว์ที่มีชีวิตช่วงแรกอยู่ในน้ำ และเมื่อโตขึ้น ก็ขึ้นมาอาศัยอยู่บนบก ทั้งที่ความจริง บางชนิด ไม่ได้วางไข่ในน้ำ และไม่มีระยะตัวอ่อน ที่เรียกว่า ลูกอ๊อดอาศัยอยู่ในน้ำ แต่กระนั้น ก็ยังต้องอาศัย ความชื้นจากหมอก และน้ำฝน
ผู้เขียน ได้อธิบายอีกว่า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประเทศไทย พบประมาณ 170 ชนิด ในป่าห้วยขาแข้ง จากการสำรวจฯ พบ 48 ชนิด จำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มของ กบ, เขียด, คางคก และอึ่งอ่าง (Anurans) มี 4 ขา โดยขาหน้า สั้นกว่าขาหลัง หัวสั้นทู่ ไม่มีคอ ไม่มีหาง ตาโปน มีทั้งผิวเรียบ และผิวขรุขระ ผิวลื่น และผิวแห้ง มีและไม่มีพังผืด ระหว่างนิ้ว ทั่วโลกพบแล้วประมาณ 6,601 ชนิด, ประเทศไทย พบ 151 ชนิด และห้วยขาแข้ง มี 47 ชนิด
2. กลุ่มของ เขียดงู (Ceacilians) รูปร่างคล้ายงู ลำตัวยาว ไม่มีรยางค์ หางสั้นมาก หัวและหางทู่ ผิวเป็นเมือก..ลื่น พบเห็นค่อนข้างยาก ทั่วโลกพบแล้วประมาณ 205 ชนิด, ประเทศไทย พบ 7 ชนิด และห้วยขาแข้ง มี 1 ชนิด
3. กลุ่มของ ซาลาแมนเดอร์ (Salamanders) รูปร่างคล้ายจิ้งจก มีขาสั้น 4 ขา และมีหางยาว พบอยู่ตามยอดเขา ที่มีอากาศหนาวเย็น ทั่วโลกพบแล้วประมาณ 698 ชนิด, ประเทศไทย พบ 5 ชนิด และห้วยขาแข้ง ยังไม่มีรายงาน
สามารถเข้าอ่าน และดูหนังสือนี้ ได้ที่ https://anyflip.com/rguht/jsfi
(แก้ไขหน้าเครดิต)
อ้างอิงข้อมูล จาก
ทีมผู้เขียน : ปิยวรรณ นิยมวัน, ไพรวัลย์ ศรีสม, ปริญญา ภวังคะนันทน์
สรายุทธ บุณยะเวชชีวิน หัวหน้าโครงการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ระยะยาว
ชาญชัย พินทุเสน ประธานกรรมการ มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์
https://www.facebook.com/rabbitinthemoonfoundation
เฟซบุ๊ก : Piyawan Niyomwan (ปิยวรรณ นิยมวัน)
https://www.facebook.com/pniyomwan
24 ต.ค. 2565
1850 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย