Goo Hara Act เป็นกฎหมายของเกาหลีใต้ มีหลักการในการจัดการมรดกของบุตรหากเสียชีวิตก่อนบิดาหรือมารดาสาระสำคัญ คือ ห้ามพ่อแม่ละเลยหน้าที่ รับมรดกลูก กฎหมายฉบับนี้มาจากการเสียชีวิตของคู ฮารา ที่ทำอัตวินิบาตกรรม โดนทิ้งจดหมายระบายความอัดอั้นตันใจในครอบครัว กฎหมายระบุว่า บิดาหรือมารดาที่ละเลยในการทำหน้าที่พ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตร หรือละเมิดต่อบุตรไม่ว่าบุตรของตนเองหรือบุตรบุญธรรมก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นการละเมิดในทางใดทางหนึ่ง หรือกระทำความผิดอาชญากรรมร้ายแรงต่อบุตรของตน บิดามารดาจะไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรที่เสียชีวิต
กลับมาดูประเทศไทย เราไม่มีกฎหมายแบบนี้ เลยมาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหม? ที่จะมีกฎหมายแบบนี้ ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เขี่ยวชาญ วิเคราะห์โอกาสจะมีไทย คูฮารา ว่า
“คิดว่าเป็นไปค่อนข้างยาก ตัวกฎหมายสะท้อนแนวคิดของแต่ละสังคม สังคมไทยให้ความสำคัญกับระบบอาวุโส ระบบครอบครัว บิดามารดาผู้ให้กำเนิด กฎหมายครอบครัวของเรา มีบทบัญญัติข้างเดียวที่คุ้มครองบิดามารดา กรณีที่บุตรที่เลี้ยงดูมาอกตัญญู จึงมีบทบัญญัติ ห้ามฟ้องพ่อแม่ในคดี อุทลุม (คดีที่ลูกหลานหรือผู้สืบสันดานฟ้องบิดามารดา ปู่ย่า ตายายหรือบุพการี) ถ้าพ่อแม่ ให้สิ่งของกับลูกแล้วลูกอกตัญญู มีสิทธิเรียกของคืน ด้วยเหตุเนรคุณ
“พ่อแม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร ในกฎหมายมรดก กฎหมายให้สิทธิบิดามารดามากกว่า ถ้าบุตรเสียชีวิตโดยไม่เขียนพินัยกรรมไว้ให้ผู้รับมรดกรับตามหลักความใกล้ชิด เริ่มจากสามี ภรรยา หรือบุตร ที่้เกิดจากบุคคลนั้น แล้วจึงเป็นพ่อแม่ที่ได้รับเป็นลำดับถัดไป มีข้อยกเว้น กรณี บุตรถูกข่มเหงรังแก หรือพ่อแม่ไม่เลี้ยงดู สามารถเขียนพินัยกรรม โดยใช้หลักของการตัด ไม่ให้มรดก
เรื่องมรดกจะตัดไม่ให้ได้รับมรดกทำได้สองแบบคือตัดโดยพินัยกรรมเขียนไม่ให้รับมรดก หรือตัดโดยหลักของกฎหมายกรณีตัดโดยพินัยกรรม เช่น กรณี นางสาวก. พ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูลูกสามารถทำพินัยกรรม ระบุว่าถ้าเสียชีวิตไป มรดกจะได้ที่ใคร หรือใครไม่ได้เลย คือใช้หลักการโดนตัดโดยพินัยกรรม หรือตัดโดยหลักของกฎหมาย เช่น พ่อแม่จงใจทำร้ายร่างกายกับตัวเจ้ามรดกหรือผู้เสียชีวิต กฎหมายจะสามารถตัดไม่ให้ได้รับมรดกได้ หรือบางครั้ง ผู้จัดการมรดกหรือทายาท ร่วมกันฉ้อโกงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ กรณีแบบนี้สามารถถูกตัดโดยใช้หลักของกฎหมายได้ เช่น ลูกให้พ่อแม่ดูแลทรัพย์สินแล้วพ่อแม่ยักยอกเอาของลูกไปใช้ก็เข้ากรณี
กฎหมายไทยมาจากหลักกฎหมายอังกฤษแบบโบราณ เมื่อรวมกับค่านิยมสังคมไทย ค่อนข้างจะเกิดกฎหมายแบบคูฮาราได้ยาก ถ้าจะตัดไม่ให้มรดกโดยให้เหตุผลว่าไม่เลี้ยงดูต้องบอกว่าไม่เลี้ยงดูยังไง ? ต้องมีระดับของการไม่เลี้ยงดูด้วย ถ้าจะทำเป็นกฎหมายไทย น่าจะผ่านรัฐสภายาก กฎหมายของเกาหลีใต้กรณีคูฮาราเอาแนวคิดมาจากตะวันตกซึ่งไม่ได้ให้ความสำคัญกับสังคมครอบครัวนัก ส่วนนี้ต่างกันกับสังคมตะวันออกแบบไทยอย่างชัดเจน