7 เมษายนของทุกปี ตรงกับ “วันอนามัยโลก” ที่มีขึ้นเพื่อ รณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
วันอนามัยโลก (World Health Day) เป็นวันที่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก ใช้เป็นโอกาสรณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของสังคม ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
สำหรับวันอนามัยโลก มีจุดเริ่มหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งองค์การอนามัยโลก นับเป็นองค์การระหว่างประเทศองค์การหนึ่ง โดยการดำเนินงานของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้อาศัยแนวความคิดและการดำเนินงานขององค์การที่เกี่ยวข้องกับการอนามัยที่มีมาก่อน อย่าง คณะมนตรีด้านอนามัย สำนักงานสาธารณสุขระหว่างประเทศและองค์การอนามัยแห่งสันนิบาตชาติ
องค์การอนามัยโลกได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1948 ซึ่งมีผลทำให้องค์การอนามัยโลกก้าวหน้าเข้ามาดำเนินกิจกรรมทางด้านอนามัยแทนสำนักงานสาธารณสุขระหว่างประเทศและองค์การอนามัยแห่งสันนิบาตชาติ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1946 คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติ ได้จัดให้มีการประชุมอนามัยระหว่างประเทศ เพื่อพิจารณาการจัดตั้งองค์การทางด้านอนามัยให้เป็นองค์การหลักองค์การเดียวในการดำเนินกิจกรรมทางด้านอนามัยแทนสำนักงานสาธารณสุขระหว่างประเทศและองค์การอนามัยแห่งสันนิบาตชาติ
“สุขภาพดีถ้วนหน้า” หรือ “Health for All” จึงป็นเป้าหมายสำคัญขององค์การอนามัยโลกเสมอมานับ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1948 (พ.ศ.2491) สุขภาพดีถ้วนหน้า หมายถึง ความเป็นอยู่ของประชาชนที่มี ความสมบูรณ์พร้อมทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพทางสังคม ครบทุกด้านซึ่งการมีสุขภาพดี มีความสัมพันธ์กับการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต โดยในปี พ.ศ. 2561 เป็นวาระครบรอบ 70 ปี ขององค์การอนามัยโลก จึงได้มีการกำหนดคำขวัญในหัวขัอว่า
“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อทุกคน ทุกหนทุกแห่ง”
(Universal Health Coverage: Everyone, Everywhere)
“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อทุกคน..ทุกหนทุกแห่ง” เป็นปัจจัยหลักสำคัญ ของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไปสู่ “สุขภาพดีถ้วนหน้า”การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการให้สิทธิประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นพื้นฐาน โดยไม่มีอุปสรรคทางการเงิน จึงเป็นเรื่องของการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้ กับทุกคนตั้งแต่แรกเกิด ตลอดช่วงชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี และเมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ซึ่งส่งผลต่อการเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ให้มีความพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)