29 พ.ค.66 - ปลัด มท. เปิดอบรมหลักสูตร MOI CAST : ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงระดับกระทรวง เน้นย้ำ "คนมหาดไทยทุกระดับต้องเป็นผู้นำทีมจิตอาสาที่เข้มแข็ง เพื่อ Change for Good และจุดไฟPassion แห่งความต้องการช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน"
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ระดับกระทรวง พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ"ทำไมต้อง MOI CAST (Ministry of Interior for Change Agent for Strategic Transformation)" ผ่านระบบZoom ไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก จังหวัดนครนายก
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พวกเรามีความหวังที่จะเห็นคนมหาดไทยมีแนวความคิดในการปลุก "จิตวิญญาณมหาดไทย" ที่ปรารถนาจะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จด้วยการจับมือร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย คือ ข้าราชการทุกกระทรวง ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อสารมวลชน และพี่น้องประชาชน เพื่อขยายผลทำให้อุดมการณ์ ที่มีในตนเองได้เสริมสร้างกับทีมงาน ดังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า ชีวิตเราเกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับคนทั้ง 8 ทิศ ที่ต้องเป็นทีมงาน โดยมี "ผู้นำ" ซึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อการช่วยเหลือสังคม ครอบครัว ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ทำให้เขาดึงความรู้ความสามารถตนเอง และทีม ลุกขึ้นมาช่วยกันผลักดันขับเคลื่อน
•
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และต่อมาพระราชทานแนวทางการทำงาน "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิดสืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ซึ่งตัวอย่างสำคัญ คือ"คลองแม่ข่า" จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นการแก้ไขในสิ่งผิดที่น้อมนำแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาทำให้เห็นผลลัพธ์ คือ ประโยชน์ที่ยั่งยืน เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้มีการคัดเลือกแม่น้ำลำคลองที่เน่าเสีย ที่เป็นสิ่งที่ผิด เพื่อร่วมกันแก้ไขพัฒนาให้มีความสะอาด สวยงาม อันจะทำให้ความยั่งยืนของระบบการดูแลน้ำดีขึ้น รวมถึงการรวมพลังทุกภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการจัดงานวันดินโลก ภายใต้แนวคิด "อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน" เพื่อแก้ไขในสิ่งผิดทำให้ดินมีคุณภาพดี เป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งสร้างประโยชน์ให้กับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่ดี และส่งเสริมการใส่ผ้าไทยเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทดีขึ้นอย่างยั่งยืน เป็นต้น"
•
Attitude ที่ดีของคนมี Passion ที่ดี เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเพียรพยายามกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมตระหนักและให้ความสำคัญ ดังโครงการจิตอาสาพระราชทาน "เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ" ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการและผู้นำทุกระดับได้ช่วยกันขยายผลจนเกิดเชิงปริมาณเยอะมาก แต่สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญ หรือเชิงคุณภาพคือ ความมีน้ำใจ เสียสละกำลังกาย กำลังสติปัญญา มีความเมตตา กรุณา มีจิตใจอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้มีความสุข พ้นจากความทุกข์ ซึ่งตรงกับอุดมการณ์ชาวมหาดไทย ทั้งข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้บริหาร อปท. ต้องช่วยกันทำควบคู่ไปด้วยกัน ซึ่งความสำเร็จต้องเกิดจากคนมีทัศนคติ ที่เป็นบวก และอุดมการณ์ที่ดี ตามมาด้วยองค์ความรู้และความสามารถ ที่เกิดจากคนหลายคนที่สามารถรวมทีมทำงานจนประสบความสำเร็จได้ ซึ่งสิ่งสำคัญอยู่ที่ "หัวใจอยู่ที่คน"
•
โดยผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารส่วนกลางในฐานะคนนิเทศ ติดตาม กระตุ้น ประเมินผล ต้องมีความรู้มากกว่านายอำเภอ ต้องมีความสนใจที่เข้มข้น (Concentrate) สูงกว่านายอำเภอ ต้องมีหัวใจนักปราชญ์ (สุ จิ ปุ ลิ) ที่มากกว่าด้วยการคิดและทำความเข้าใจในเชิงลึกและกว้างขวางรอบด้าน เพื่อสามารถนำกลับไปสร้างทีมที่กรม/รัฐวิสาหกิจแล้วขยายผลไปสู่การกระตุ้นปลุกเร้าคนในองค์กรและพี่น้ององคาพยพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้ช่วยกัน Change for Good รูปแบบการทำงานให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
•
"โครงสร้างการทำงานของกระทรวงมหาดไทยที่นับเนื่องมาตั้งแต่ 131 ปีก่อน อันมีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องที่ ท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน ได้สืบทอดให้ความสำคัญกับ "ผู้นำ" ที่เป็นโซ่ข้อกลางนำสิ่งที่เป็นนโยบายไปสู่ประชาชน และDelivery สะท้อนสิ่งที่เป็นความต้องการ ปัญหา และศักยภาพของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดมาสู่ผู้บริหารส่วนกลางเพื่อผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยผู้นำที่ดี ต้องสะท้อนปัญหาความต้องการไปยังส่วนกลางในรูปแบบ Bottom up เพื่อให้เกิดการ Top down สั่งการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ "ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์" แต่ต้องเป็นผู้นำการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ ด้วยการไม่ทำงานเป็นOfficer แต่ทำงานเป็นแม่ทัพลงพื้นที่ไปช่วยประชาชน มองปัญหาเป็นข้าศึก พุ่งเป้าหาวิธีการ/แนวทางช่วยเหลือประชาชนในทุกเรื่อง เพื่อให้งานประสบความสำเร็จซึ่งปลายน้ำคือ "ความสุขของประชาชน"
•
เราต้องแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยการขับเคลื่อนสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน หรือเรียกว่า "การปฏิบัติบูชา" ด้วยการมุ่งมั่นทำสิ่งที่ดีเพื่อประชาชนได้รับสิ่งที่ดี รวมถึงน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เช่น ที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ชาวมหาดไทยได้ร่วมกันลงไป Change for Good หลายกิจกรรม อาทิ การพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ การส่งเสริมใช้พื้นที่วัด โรงเรียน หมู่บ้าน เป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพืชสมุนไพร การส่งเสริมพัฒนาพื้นที่หน้าที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา หน้าพระอนุสาวรีย์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้เป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์เรื่องสิ่งแวดล้อม การแสดงอัตลักษณ์ และเป็นพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โดยมีคนในพื้นที่เป็นผู้แนะนำการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สอดคล้องสอดรับกับอัตลักษณ์คนกัลยาณิวัฒนา เป็นต้น อันเป็นตัวอย่างเครื่องยืนยันว่า ชีวิตของคนมหาดไทยและทุกภาคีเครือข่ายต้องยกระดับการเป็นผู้นำในทุกระดับ ด้วยการส่งผ่านความปรารถนาดีจากส่วนกลางไปยัง อำเภอเพื่อให้อำเภอไปทำทีมตำบลและทีมหมู่บ้านให้เข้มแข็ง เพราะเราไม่ได้มีแค่งานประจำตามอำนาจหน้าที่ ที่ต้องทำเป็นประจำ และต้องทำให้ดีขึ้น และที่สำคัญต้องมีงานพิเศษที่ต้องทำด้วยหัวใจ "จิตอาสา" ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ความทุกข์น้อยลงจนหมดไป และสื่อสาร รายงานผู้บังคับบัญชา สื่อสารคนในหน่วยงาน รวมถึงสร้างการรับรู้ไปยังสาธารณชน โดยคนในองค์กรต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน "เพราะการสื่อสารจะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน" และต้องสื่อสารตลอดเวลา
•
โดยผู้รับสารต้องเตือนสติอยู่เสมอว่า ต้องมี "โยนิโสมนสิการ" คือ การใช้สติคิดใคร่ครวญให้ดีละเอียดถี่ถ้วน กล่าวคือ การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนก่อนจะเชื่อเรื่องนั้น ๆ และต้องทำหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีคือการทำให้ผู้บังคับบัญชานำเสนอสิ่งที่ดีจนทำให้ผู้บังคับบัญชาทำสิ่งที่ดีที่ตนเองอยากให้เกิดขึ้นได้ และต้อง Action Now ให้ความสำคัญกับทุกนาทีที่ยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ราชการร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ทำให้ UN SDGs ทั้ง 17 ข้อ บรรลุตามสิ่งที่เราได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ไว้
"ทุกคนต้องช่วยสะกดจิตสะกดใจตนเองให้ปลุกไฟแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ไฟจิตอาสาของภาคราชการให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน ด้วยการร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ ตามหลักการมีส่วนร่วมด้วยใจที่เปิดกว้าง ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ร่วมรับผลประโยชน์ด้วยกัน" โดยตระหนักเสมอว่า ความรู้ความสามารถของคนคนเดียวจะสู้คนจากหลายหน่วยมารวมกันเป็นแขนงไม้ไผ่ไม่ได้ เพื่อช่วยกันเข็นครกขึ้นภูเขา ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นสิ่งที่ทำได้ I'm Possible ด้วยการยอมรับจุดด้อยจุดแข็งให้เป็นสิ่งที่เรายอมรับได้ด้วยเหตุผล เพื่อทำให้กลไกการขับเคลื่อนทีมนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนทุกระดับทั้งทีมจังหวัด (P(Province)CAST) ทีมอำเภอ (D(District)CAST) ทีมตำบล (T(Tambon)CAST) และทีมหมู่บ้าน(V(Village)CAST)" เป็นผู้นำทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" คือ บ้านเรือนและหมู่บ้านมีความมั่นคงปลอดภัย สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย มีถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีธนาคารขยะ เกิดความรัก สามัคคีเกิดการรวมกลุ่มจิตอาสาแบบไม่เป็นทางการในลักษณะป๊อก คุ้ม หย่อมบ้าน น้อมนำแนวทางแห่งความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ และถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ด้วยการพาลูกหลาน เด็กและเยาวชนไปร่วมทำเพื่อให้เกิดการซึมซับและสานต่อเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ต่อไป”