X
“วันทานาบาตะ” ตำนานรักสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว

“วันทานาบาตะ” ตำนานรักสาวทอผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัว

7 ก.ค. 2565
14170 views
ขนาดตัวอักษร


“วันทานาบาตะ” (Tanabata / 七夕) ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี ผู้คนจะนิยมเขียนคำอธิษฐานลงบน “ทังซะกุ (Tanzaku)” ที่เป็นแผ่นกระดาษแผ่นเล็ก ๆ จากนั้นนำไปแขวนไว้กับกิ่งไผ่เพื่ออธิษฐานขอพรจากดวงดาว

(อ่าน : คำขอพรของโดราเอมอนใน ‘วันทานาบาตะ’)


วันทานาบาตะ นั้นมีต้นกำเนิดดั้งเดิมมาจากนิทานเรื่อง 7 นางฟ้าของประเทศจีน จนกลายมาเป็นเรื่องราวความรักของ “สาวทอผ้า” กับ “หนุ่มเลี้ยงวัว" และยังเกี่ยวข้องกับ 3 กลุ่มดาวบนท้องฟ้า ได้แก่ กลุ่มดาวพิณ กลุ่มดาวหงส์ และกลุ่มดาวนกอินทรีย์ อีกด้วย


เรื่องราวมีอยู่ว่า นางฟ้าองค์หนึ่งนามว่า “โอริฮิเมะ” (Orihime) หรือ “เวกา” (Vega) ลูกสาวเทพผู้ครองสวรรค์ ผู้งดงาม ขยันขันแข็ง มีฝีมือการทอผ้าที่งดงามวิจิตรหาตัวจับยาก เธอใช้เวลาทั้งหมดไปกับการทอผ้าโดยไม่ได้หยุดพัก จนบิดาเป็นห่วงและสงสาร ไม่อยากให้เธอต้องทอผ้าอย่างเดียวไปตลอดชีวิต จึงมีความคิดที่จะหาคู่ครองให้ จึงได้จัดพิธีเลือกคู่ขึ้น


    ในพิธีเลือกคู่นั้นมีชายหนุ่มมากมายมาให้เธอได้เลือก แต่ชายหนุ่มที่โอริฮิเมะเลื่อกนั้นเป็นเพียงชายเลี้ยงวัวธรรมดาที่ชื่อว่า “ ฮิโกโบชิ” (Hikoboshi) หรือ “อัลแตร์” (Altair) ทั้งสองตกหลุมรักกันตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้สบตา และได้แต่งงานกันตามที่หวัง

    แต่เมื่อทั้งคู่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันมาระยะหนึ่ง ต่างก็ลุ่มหลงอยู่ในความรักจนไม่ทำงาน โอริฮิเมะเองก็ไม่ยอมกลับมาทอผ้า ส่วนฮิโกโบชิก็ละทิ้งวัวของตัวเองจนวัวเดินเพ่นพ่านไปทั่วสวรรค์ สร้างความเดือดร้อนให้เหล่าเทพเป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้ทำให้บิดาของโอริฮิเมะโกรธและผิดหวังมาก จึงได้ลงโทษให้ทั้งคู่แยกจากกัน โดยขีดทางช้างเผือกมากั้นขวางทั้งคู่เอาไว้

    เหตุการณ์นี้จำให้โอริฮิเมะเศร้าโศกมาก ไม่อาจทอผ้าให้สวยงามอย่างเดิมได้ จนบิดาใจอ่อน ยอมให้ทั้งคู่ได้กลับมาพบกันปีละ 1 ครั้ง ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี แต่มีเงื่อนไขสำคัญว่า ทั้งคู่จะต้องทำงานอย่างขยันขันแข็งเหมือนเดิม แต่แม้ว่าจะได้พบกัน ทั้งคู่ก็มิอาจจะก้าวข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้ ทำได้เพียงเจอหน้ากันอยู่คนละฝั่งของฟากฟ้า ทำให้ฝูงนกกางเขนที่บินผ่านเกิดความสงสาร ช่วยกันต่อเรียงตัวเป็นสะพานให้ทั้งคู่ได้ก้าวข้ามมาเจอกันในทุก ๆ ปี ยกเว้นปีที่มีฝนตกเท่านั้น


ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไม่มีฝน เราจะสามารถมองเห็นทางช้างเผือก ขั้นกลางอยู่ระหว่าง “ดาวเวกา” ในกลุ่มดาวพิณ กับ “ดาวอัลแตร์” ในกลุ่มดาวนกอินทรีย์ พร้อมกับ “ดาวเดเนบ” ในกลุ่มดาวหงส์ ที่เป็นเสมือนเป็นสะพานเชื่อมให้ดาวทั้งสองดวงได้มาพบกันนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)