X
ระดม 10,000 ยุว อสม. เผย 5 ข้อ สุขบัญญัติ ช่วยป้องกันฝีดาษลิง

ระดม 10,000 ยุว อสม. เผย 5 ข้อ สุขบัญญัติ ช่วยป้องกันฝีดาษลิง

9 ก.ย. 2565
970 views
ขนาดตัวอักษร

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดกิจกรรมหนุนแนวทาง และสื่อประชาสัมพันธ์ ติดอาวุธทางปัญญาให้ ยุว อสม. พลังเยาวชน จิตอาสา 10,000 คน ทั่วประเทศ เพื่อเป็นกระบอกเสียงบอกต่อ ความรู้ป้องกันฝีดาษลิง ด้วยสุขบัญญัติผ่านสื่อต่าง ๆ ให้แก่เพื่อน ครอบครัว และชุมชน



นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ที่มีการระบาดไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่มีมาตรการป้องกัน ฝีดาษลิงอย่างเข้มงวด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสุขศึกษา ได้จัดทำแนวทางในประชาสัมพันธ์ และจัดทำสื่อ เพื่อเผยแพร่เป็นเครื่องมือ ติดอาวุธให้กับ ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) จำนวนกว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ ที่มีความใกล้ชิด กับคนในครอบครัว เพื่อนในสถานศึกษา และคนรู้จักในละแวกชุมชน

ซึ่งเป็นเยาวชนจิตอาสา ที่เป็นแกนนำในสถานศึกษา มีใจรักทางด้านสุขภาพ บอกต่อให้ความรู้ กับการป้องกันโรคฝีดาษลิง ด้วยสุขบัญญัติ ให้กับนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษา ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น การจัดบอร์ดนิทรรศการ การให้ความรู้หน้าเสาธง การประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย ขณะพักรับประทานอาหารกลางวัน การบอกต่อกับกลุ่มเพื่อน ผ่านทางแอปพลิเคชัน โดยใช้เครื่องมือประชาสัมพันธ์ ของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุข ในการบอกต่อความรู้ โดยคาดว่า ยุว อสม. 1 คน สามารถบอกต่อ ให้กับคนรู้จักได้ 10 คน  เป็นเยาวชนจิตอาสา ที่สามารถกระจายข่าวสาร ให้กลุ่มบุคคลในวงกว้างได้เป็นอย่างดี



ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สุขบัญญัติเป็นแนวทางปฏิบัติ การดูแลสุขภาพเบื้องต้นที่ ยุว อสม. สามารถบอกต่อได้ โดยใช้หลักสุขบัญญัติ เป็นแนวทางในการป้องกัน ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง ที่สามารถติดจากสัตว์สู่คน เช่น การสัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วย หรือถูกสัตว์ที่ป่วย ข่วนหรือกัด และนำมาประกอบอาหาร

สำหรับคนสู่คน ติดได้จากละอองฝอย จากการหายใจของผู้ป่วย โดยโรคฝีดาษลิง มักมีระยะฟักตัว ประมาณ 7 - 14 วัน หรือ ยาวนานได้ถึง 24 วัน อาการของผู้ป่วยฝีดาษลิง จะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นตุ่มหนอง สามารถป้องกันฝีดาษลิง ด้วยสุขบัญญัติ ได้แก่

สุขบัญญัติ ข้อที่ 1 ดูแลรักษาร่างกายให้สะอาด หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยตรง กับเลือด สารคัดหลั่ง หรือ ตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือสัตว์ป่า และผู้ที่ติดเชื้อ

สุขบัญญัติ ข้อที่ 3 ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลังสัมผัสผู้เสี่ยงติดเชื้อ สัตว์ หรือสิ่งของสาธารณะ

สุขบัญญัติ ข้อที่ 4 กินอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ดิบ และปรุงไม่สุก

สุขบัญญัติ ข้อที่ 5 งดการสำส่อนทางเพศ หยุดมีเพศสัมพันธ์ กับคนไม่รู้จัก และคู่นอนหลายคน

และ สุขบัญญัติ ข้อที่ 10 มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือ นำเข้าสัตว์จากต่างประเทศ โดยไม่มีการคัดกรอง



นับว่าแนวทางตามสุขบัญญัติแห่งชาติ หากปฏิบัติจนเป็นสุขนิสัย ในทุกคนทุกวัย ก็จะสามารถป้องกันโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นฝีดาษลิง และโรคโควิด-19 โดยกลุ่ม ยุว อสม. จิตอาสา จะเป็นพลังเยาวชน ที่สร้างแรงขับเคลื่อน ในการบอกต่อความรู้แก่เพื่อน ๆ ครอบครัว และชุมชน ให้รู้จักการป้องกัน โรคฝีดาษลิงได้ อย่างถูกวิธีต่อไป

นอกจากนี้ Backbone MCOT มีข้อมูล สุขบัญญัติแห่งชาติ ฉบับเต็ม 10 ประการ จากเว็บไซต์ อสม. อาสาสมัครสาธารณสุข ได้เผยแพร่ไว้ให้ดาวน์โหลด โดยมีข้อมูลระบุไว้ดังนี้

สุขบัญญัติแห่งชาติ

การมีพฤติกรรมสุขภาพตาม สุขบัญญัติแห่งชาติ โดยปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในวิถีชีวิตจนเป็นสุขนิสัย เป็นพื้นฐานสำหรับชีวิต ที่จะสร้างให้เกิดความแข็งแรง มีสมรรถภาพในการปฏิบัติภารกิจ ในชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน ช่วยสร้างเสริมภูมิต้านทานโรค ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย ลดความเสี่ยงต่อการป่วย ด้วยโรคอันตรายเรื้อรัง และลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ทำให้มีสุขภาพดี ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นพื้นฐาน ให้เราสามารถใช้ชีวิต ที่มีคุณภาพได้ อย่างมีความสุขอยู่ในสังคม



การละเลยในการปฏิบัติสุขบัญญัติ ข้อใดข้อหนึ่ง ทำให้เรามีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย หรืออันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งอาจจะเริ่มต้นด้วย การเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่อาจเป็นบ่อเกิดของโรคแทรกซ้อน ที่อันตรายร้ายแรงตามมา ดังนั้น เพื่อการมีสุขภาพดี จึงต้องใส่ใจ และปฏิบัติพฤติกรรมสุขบัญญัติ ทั้ง 10 ประการ ดังนี้

1. ดูแลรักษาร่างกาย และของใช้ให้สะอาด  

2. รักษาฟันให้แข็งแรง และแปรงฟันทุกวัน อย่างถูกต้อง

3. ล้างมือให้สะอาด ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย

4. กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด

5. งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ

6. สร้างความสัมพันธ์ ในครอบครัวให้อบอุ่น

7. ป้องกันอุบัติภัย ด้วยการไม่ประมาท

8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี

9. ทำจิตใจให้ร่าเริง แจ่มใสอยู่เสมอ

10. มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม



#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th

เว็บไซต์ : อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)
www.อสม.com



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)