X
เล่นฟิลเตอร์ “ผีหลอกเด็ก” ระวังสร้างปมในใจ เสี่ยงเป็นซึมเศร้า หรือ PTSD

เล่นฟิลเตอร์ “ผีหลอกเด็ก” ระวังสร้างปมในใจ เสี่ยงเป็นซึมเศร้า หรือ PTSD

17 ส.ค. 2565
720 views
ขนาดตัวอักษร


หลายคนคงได้เห็นคอนเทนต์ที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนี้ ที่ผู้ปกครองเล่นฟิลเตอร์ “ผีหลอกเด็ก” ในแอปพลิเคชันดัง โดยผู้ปกครองจะเปิดฟิลเตอร์ไว้ในโทรศัพท์ให้เด็กดู จากนั้นเมื่อผีปรากฏผู้ปกครองก็จะวิ่งหนีและปิดประตูล็อกห้อง ทิ้งเด็กไว้เพียงลำพัง บอกเลยว่าแบบนี้อย่าหาทำ เพราะเด็กอาจเกิดปมในจิตใจ เครียดรุนแรง เสี่ยงป่วยโรคซึมเศร้า หรือ PTSD ด้วยนะ!


นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เตือนผู้ปกครองที่ใช้ฟิลเตอร์ “ผีหลอกเด็ก” ว่าอาจเป็นการสร้างปมในจิตใจทำให้เด็กเครียดรุนแรง ไปจนถึงเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือ PTSD ได้ จากกรณีที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ คนใกล้ชิด ขู่ หรือ ปล่อยให้เด็กเผชิญความหวาดกลัวเพียงลำพัง โดยไม่ได้ปลอบใจ หรือช่วยประคับประคองจิตใจ จะนำเด็กไปสู่ภาวะ The fight or flight คือ การสู้ หรือ ตื่นกลัว อย่างเช่นการล็อกประตูห้องแล้วปล่อยให้เด็กเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจหรือผีในฟิลเตอร์เพียงลำพัง จนทำให้เกิดภาวะเครียด กลัวอย่างรุนแรง หรือ เกิดภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียด หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ได้


PTSD คืออะไร?

คือ โรคหรืออาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง รวมถึงอันตรายต่างๆ ที่วงการแพทย์เรียกว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder) คือ สภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ ที่ไม่คาดฝัน


สำหรับกลุ่มอาการ PTSD ที่เกิดได้กับทุกเพศและวัย มี 4 หัวข้อ คือ

1. คิดว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น (Re-experiencing)

คิดวนเวียนเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ หรือบางครั้งนึกถึงความทรงจำเลวร้ายนั้นขึ้นมาเอง ทำให้รู้สึกเหมือนต้องไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำไปซ้ำมาจนตกใจกลัว (Flashback) 

2. กลัวและหลีกเลี่ยง (Avoidance)

กลัวสถานที่หรือสถานการณ์หลังจากประสบเหตุนั้น ๆ หลีกเลี่ยง ไม่กล้าเผชิญกับปัจจัยสิ่งเร้าภายนอกที่จะทำให้นึกถึงเหตุการณ์ 

3. มีความรู้สึกนึกคิดในทางลบ (Negative alteration of cognition and mood)

ไม่มีอารมณ์ในทางบวก ไม่มีความสุขและไม่สนใจที่จะร่วมกิจกรรมนั้น ๆ การรู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่น มีความเชื่อและคาดหวังที่เป็นไปในทางลบอย่างต่อเนื่อง ความคิดดังกล่าวจะนำไปสู่การตำหนิตัวเองและคนอื่น ส่งผลให้มีอารมณ์ฝังใจในทางลบ ขี้โกรธ ขี้อาย ขี้กลัว รู้สึกผิดอยู่ตลอดเวลา

4. อาการตกใจและหวาดกลัว (Hyperarousal symptoms)

คอยจับจ้อง ระวังตัว ตื่นตัว และมักมีอาการหงุดหงิด ตกใจง่าย โกรธง่าย รวมถึงสะดุ้งและผวาง่ายขึ้นกับเสียงดัง นอนหลับไม่สนิท หลับยาก หรือชอบสะดุ้งตื่นในขณะที่นอนหลับ


ขอบคุณข้อมูลจาก


Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)