X
“Stem Cell Bank” อนาคตนวัตกรรมการแพทย์

“Stem Cell Bank” อนาคตนวัตกรรมการแพทย์

28 ต.ค. 2566
3030 views
ขนาดตัวอักษร

“Stem Cell Bank” ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด ก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของประเทศ เพิ่มโอกาสการรักษาในอนาคตที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพและความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine)


​รองศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา น้อยสา หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และพัฒนานวัตกรรมด้วยเซลล์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เน้นย้ำประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีมาตรฐานคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บและผลิตสเต็มเซลล์ให้อยู่ในระดับที่พร้อมนำมาต่อยอดในการใช้เพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ได้ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล เพื่อโอกาสในการใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาในอนาคตได้ใช้เซลล์ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด และตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพและความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของประเทศ



“สเต็มเซลล์” หรือ เซลล์ต้นกำเนิด เป็นจุดกำเนิดของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือเซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนท์ (Pluripotent stem cell) และเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเต็มวัย (Adult stem cell) ดังนั้น สเต็มเซลล์จึงมีคุณสมบัติในการเพิ่มจำนวน หรือทดแทนเซลล์ที่เสื่อมในร่างกายได้เพียงพอ นอกจากนี้เซลล์ต้นกำเนิดยังสามารถหลบการตรวจจับจากร่างกายทำให้ไม่ถูกทำลายหรือย่อยสลายเมื่อมีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ด้วยความสามารถพิเศษเหล่านี้ ทำให้สเต็มเซลล์สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้


เซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนท์นั้นมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเซลล์อะไรก็ได้ในร่างกายและยังสามารถแบ่งเซลล์ตัวเองได้อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเต็มวัยโดยส่วนใหญ่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้จำกัดชนิดกว่า และไม่สามารถแบ่งเซลล์ตัวเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่างที่พบเห็นได้จากคุณลักษณะของเซลล์ต้นกำเนิดพลูริโพเทนท์ หากแต่ว่าการศึกษาทางด้านเซลล์ต้นกำเนิดกำเนิดพลูริโพเทนท์นั้นยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของปัญหาทางด้านความปลอดภัยในการใช้ในมนุษย์เนื่องจากความสามารถในการแบ่งตัวที่ไม่จำกัดจึงมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลังการปลูกถ่ายได้ ทำให้เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเต็มวัยเป็นตัวเลือกที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกให้ความสนใจในการพัฒนาเซลล์ชนิดนี้เพื่อการรักษาโรค


สเต็มเซลล์มีคุณสมบัติหลัก ๆ คือ 1. ความสามารถในการรักษาความสดใหม่ของตัวเซลล์ได้ในระยะยาว ทำให้เมื่อเราแก่ตัวไปสเต็มเซลล์ที่เรามีก็ยังสามารถใช้ในการรักษาโรคได้ 2. สามารถเปลี่ยนสภาพเป็นเซลล์ประเภทอื่น ๆ ที่สามารถทำหน้าที่ซ่อมแซม ฟื้นฟูอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ 


จากคุณสมบัติพิเศษของสเต็มเซลล์และข้อจำกัดเรื่องจำนวนสเต็มเซลล์ที่ลดน้อยลงไปตามอายุที่มากขึ้นนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนา “เทคโนโลยีการจัดเก็บสเต็มเซลล์” ขึ้นเพื่อโอกาสในการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการช่วยชะลอวัยและรวมไปถึงการบำบัดรักษาโรคในอนาคตได้ 


ดังนั้น การใช้เซลล์บำบัดจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ปลอดภัยและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกว่าเซลล์บำบัด คือ การใช้เซลล์ซ่อมเซลล์ ซ่อมแซมความเสื่อมของร่างกาย เข้าไปทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพหรือตายไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้หลอดเลือดกลับมาแข็งแรงขึ้น จึงสามารถช่วยให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


โรคหลัก ๆ ที่มีการศึกษาวิจัยแล้วว่าสามารถใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคได้ เช่น กลุ่มโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย โดยเมื่อเราอายุมากขึ้นอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายที่มีสเต็มเซลล์อยู่แล้ว ก็จะน้อยลง อาจส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้  กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับการอักเสบ สามารถใช้สเต็มเซลล์ลดการอักเสบในร่างกายได้ โดยเมื่อมีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เข้าไปในร่างกาย สเต็มเซลล์ก็จะหลั่งโปรตีนที่ช่วยลดระดับการอักเสบในร่างกายได้ และกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานมากเกินไป ดังนั้น สเต็มเซลล์จะเข้าไปทำหน้าที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเกิดความสมดุล


การใช้สเต็มเซลล์จะต้องใช้ภายใต้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทราบคุณสมบัติและวิธีการใช้สเต็มเซลล์ให้เหมาะกับโรคนั้น ๆ เนื่องจากแต่ละโรคก็จะมีวิธีการใช้ และการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่แตกต่างกัน ​โดยหลักทางการแพทย์สเต็มเซลล์นั้นจะสามารถสร้างได้จากทั้ง 2 อย่างคือ นำสเต็มเซลล์ของตัวเจ้าของเองมาเพิ่มจำนวนในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และทำการปลูกถ่ายกลับเข้าไป แต่หากเป็นสเต็มเซลล์จากผู้ป่วยคุณภาพที่ได้ก็อาจจะไม่ดีเพราะสเต็มเซลล์จะมีคุณภาพที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อนำมาปลูกถ่ายเพื่อใช้ในการรักษาก็อาจจะได้ผลที่ไม่ชัดเจนหรือไม่สามารถรักษาโรคได้ จึงมีทางเลือกอื่นคือ “ใช้สเต็มเซลล์จากผู้ที่มาบริจาค” โดยจะใช้เซลล์จากบุคคลอื่นที่จะนำมาใช้ปลูกถ่ายเพื่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะต้องคำนึงถึงเมื่อเหลือกใช้เซลล์จากคนอื่นคือความเข้ากันได้ของเซลล์ผู้รับ และเซลล์ผู้บริจาค โดยก่อนการปลูกถ่ายจะมีการตรวจหาความเข้ากันของทั้ง 2 ฝ่ายก่อนที่จะใช้ในการรักษา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยของเรานั้นได้จัดทำ “สเต็มเซลล์แบงก์” หรือธนาคารสเต็มเซลล์ที่มีทั้งของทางรัฐบาลและเอกชนที่ให้บริการอยู่พอสมควร ซึ่งต้องมีการตรวจหาความเข้ากันได้ของเซลล์ผู้ให้กับเซลล์ผู้รับให้ตรงกันก่อนทำการรักษา โดยระยะเวลาที่ใช้ในการประเมินความเข้ากันของทั้ง 2 ฝ่ายนั้นไม่นานประมาณ 1 สัปดาห์โดยใช้กระบวนการที่ได้มาตรฐานกำหนดไว้ 


ด้านการพัฒนาธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดนั้น เนื่องจากสเต็มเซลล์ข้อจำกัดด้านการนำไปใช้ และสเต็มเซลล์ที่จะสามารถสกัดและนำมาจัดเก็บเอาไว้นั้นมีที่มาจากหลากหลายแหล่ง เช่น เลือดจากสายสะดือ หรือจากเยื่อบุสายสะดือ ซึ่งสเต็มเซลล์จากหลายแหล่งก็จะมีคุณสมบัติที่ต่างกัน การประยุกต์ใช้ก็ต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดเก็บสเต็มเซลล์ไว้อย่างเป็นระบบ ในการจัดเก็บสเต็มเซลล์ที่มีประสิทธิภาพ นักวิจัยและห้องปฏิบัติการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดต้องให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน เพื่อป้องกันความผิดพลาดต่อผู้รับบริการและสามารถนำสเต็มเซลล์ไปใช้เพื่อการรักษาโรคในอนาคตได้อย่างปลอดภัย เช่น ถังแช่แข็งเก็บสเต็มเซลล์ควรจะควบคุมด้วยระบบ Automated Liquid Nitrogen ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อใช้ในการจัดเก็บสเต็มเซลล์ ในอุณหภูมิต่ำที่ -196 องศาเซลเซียส พร้อมระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถควบคุมและติดตามบันทึกระดับอุณหภูมิ ความชื้น และระดับน้ำยาแช่แข็งตลอด 24 ชั่วโมง และมีระบบฉุกเฉินในการสำรองน้ำยาแช่แข็งสเต็มเซลล์ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด นอกจากการจัดเก็บแล้วการคัดแยกและเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ให้แข็งแรง มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้สเต็มเซลล์บริสุทธิ์ที่รับสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ที่เหมาะสม และได้สเต็มเซลล์ที่มีชีวิตที่สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างปลอดภัยเมื่อถูกปลูกถ่ายเข้าไปในร่างการผู้ป่วยในอนาคต สำหรับมาตรฐานห้องปฏิบัติการจัดเก็บสเต็มเซลล์ก็เป็นปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการเลือกใช้บริการบริษัทจัดเก็บสเต็มเซลล์ ซึ่งควรได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างน้อยระบบคุณภาพการดำเนินการ ISO 9001:2015 และงานระบบห้อง Cleanroom เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคระหว่างการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์อีกด้วย และหากธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด มีจำนวนสเต็มเซลล์มากเพียงพอ ก็จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการรักษาโรคในอนาคตได้


​ปัจจุบันสเต็มเซลล์ในประเทศไทยอาจจะยังอยู่ในขั้นของการทางการแพทย์ชั้นคลินิก แต่ในอนาคตเมื่อมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หลักฐานทางการแพทย์ ที่มีปริมาณมากขึ้นและมีการยืนยันด้านการปลอดภัย มีประสิทธิภาพที่มากขึ้น สเต็มเซลล์อาจถูกใช้เป็นแพทย์ทางเลือกอย่างแพร่หลายในเมืองไทยและปลอดภัยสำหรับคนไข้ทุกคน และหากวิทยาการสเต็มเซลล์พัฒนามากขึ้นก็อาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายของการใช้สเต็มเซลล์ถูกลง เป็นการเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงสเต็มเซลล์ได้มากขึ้นได้ นอกจากนี้นโยบายของทางภาครัฐมีการช่วยผลักดันสเต็มเซลล์ให้เป็นการรักษาขั้นพื้นฐาน ก็จะช่วยผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมด้านชีวทางการแพทย์เกี่ยวกับสเต็มเซลล์ขึ้น

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)