X
เปิดตำนานวันสงกรานต์ และนางสงกรานต์ทั้ง 7

เปิดตำนานวันสงกรานต์ และนางสงกรานต์ทั้ง 7

14 เม.ย 2566
3330 views
ขนาดตัวอักษร

เปิดตำนานวันสงกรานต์ และ “นางสงกรานต์” ทั้ง 7 องค์ ธิดาของเท้ากบิลพรหม ผู้ทำหน้าที่เชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปีใน “วันสงกรานต์”

ตำนานการเกิด “วันสงกรานต์”

    ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่งไร้ทายาทสืบสกุล  ทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก พยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์  เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร  ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี  ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนา

    จนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์  ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง  ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลาย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง  7  ครั้ง  แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น  เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร  เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร  จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์  ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี  พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ  “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี  เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย  เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา  เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง  7  ชั้น ถวายเทพต้นไทร

    เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น  ก็เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม  รอบรู้  จนกระทั่ง “ท้าวกบิลพรหม” ได้ยินว่าธรรมบาลมีปัญญาอันยอดเยี่ยมจึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จึงได้ถามปัญหา  3  ข้อ ว่า  1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด 2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด และ 3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด หากธรรมบาลแก้ปัญหาทั้ง 3 นี้ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา  แต่หากธรรมบาลแก้ไม่ได้  ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ 

    ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบได้  จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไป  6  วัน จึงหลบออกจากปราสาทหนีเข้าป่า  และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล  ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ธรรมบาลที่เข้าใจภาษานกก็ได้ยินนกอินทรีคุยกันว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล  เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร  ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว  เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้” นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร” นกสามีจึงตอบว่า คำตอบของปัญหาทั้ง 3 ข้อ คือ 

ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกเช้า ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก และตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน

    ธรรมบาลได้ยินดังนั้น ก็นำคำตอบไปบอกกับท้าวกบิลพรหมในวันถัดไป เมื่อท้าวกบิลพรหมได้ฟังคำตอบก็ยอมรับความพ่ายแพ้ ตัดศีรษะตนเองตามสัญญา แต่ก็ได้เรียกธิดาทั้ง 7 ของตน ซึ่งเป็นหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกัน เพื่อคอยรับศีรษะของตน เพราะหากท้าวกบิลพรหมตัดศีรษะตัวเองแล้วเอาวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก  ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศ  อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น  ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน  จึงสั่งให้ธิดาทั้ง 7 เอาพานมารองรับศีรษะ จากนั้นตัดศีรษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี  เขาไกรลาส  บูชาด้วยเครื่องทิพย์  พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการชื่อว่าภควดี  ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต  7  ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุก ๆ องค์

เมื่อครบ  365  วันโลก เป็นหนึ่งปีเป็นสงกรานต์ ธิดา  7  องค์  ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วจึงกลับไปเทวโลก

ธิดาทั้ง 7 องค์ ของท้าวกบิลพรหม

1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี


นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม  มีปัทมราค  (แก้วทับทิม)  เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคืออุทุมพร  (มะเดื่อ)  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือจักร  พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์  เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

2. นางสงกรานต์โคราคะเทวี


นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป  มีมุกดาหาร  (ไข่มุก)  เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือเตละ  (น้ำมัน)  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า  เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์  (เสือ)

3. นางสงกรานต์รากษสเทวี


นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง  มีโมรา  (หิน)  เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือโลหิต  (เลือด)  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู  เสด็จประทับเหนือวราหะ  (หมู)

4. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี


นางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา  มีไพฑูรย์  (พลอยสีเหลืองแกมเขียว)  เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือนมและเนย  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม  พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า  เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

5. นางสงกรานต์กิริณีเทวี


นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา  (ยี่หุบ)  มีมรกตเป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือถั่วและงา  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน  เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร  (ช้าง)

6. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี


นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์  ทัดดอกจงกลนี  มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์  พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ  เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา  (ควาย)

7. นางสงกรานต์มโหธรเทวี


นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว  (ผักตบชวา)  มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือเนื้อทราย  อาวุธคู่กาย  พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล  เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา  (นกยูง)

ขอบคุณข้อมูลจาก : หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)