พาไปดูว่า กองทุนน้ำมัน มีขึ้นเพื่ออะไร มีประโยชน์อะไร และเงินหายไปไหนหมด เหตุใดเวลานี้จึงติดลบสูง 72,062 ล้านบาท
ปล่อยให้ดีใจเก้ออยู่แค่วันเดียวที่ ครม. อนุมัติลดจัดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเป็น 5 บาทต่อลิตร ด้วยความหวังว่าน้ำมันดีเซลจะถูกลง แต่ก็ต้องฝันสลายเมื่อคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มาแจงว่าลดภาษีสรรพสามิต ไม่เกี่ยวกับค่าน้ำมันคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพราะส่วนต่างที่ได้มาจากลดภาษี ต้องเอาไปลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่อุดหนุนดีเซลถึงประมาณลิตรละ10 บาท ก็จะเหลืออุดหนุนประมาณ 8 บาทต่อลิตร
การเอาเงินส่วนลดภาษีไปลดภาระกองทุนน้ำมัน ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ สถาบันการเงินมั่นใจพิจารณาปล่อยกู้แก่กองทุนน้ำมันฯ ซึ่งปัจจุบันมีสถานะการเงินติดลบ 72,062 ล้านบาท BackboneMCOT เลยขอพาไปดูว่า กองทุนน้ำมันฯ มีขึ้นเพื่ออะไร มีประโยชน์อะไร และเงินหายไปไหนหมด
สำหรับกองทุนน้ำมันฯ มีจุดเริ่มมาจากเมื่อปี 2516 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย ครม. ในขณะนั้น จึงออก พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ ครม. สามารถกำหนดมาตรการป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
จนกระทั่งปี2562 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุนตามที่ กบน. กำหนด หรืออธิบายแบบเข้าใจง่าย คือ เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้น กองทุนน้ำมันฯ จะเข้าไปช่วยอุดหนุนราคาน้ำมัน ไม่ให้ขึ้นตามราคาจริงของตลาดโลก
โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลถึงเกือบ 10 บาทต่อลิตร อุดหนุนน้ำมัน E85 ประมาณ 3.53 บาทต่อลิตร และก๊าซ LPG ที่ยังอุดหนุนลิตรละ 9.41 บาทต่อลิตร แต่จากผลกระทบราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครน ทำให้หลายเดือนที่ผ่านมากองทุนน้ำมันฯ ต้องรับภาระอุดหนุนค่าน้ำมันรวมเป็นเงินกว่าเดือนละ 20,000 ล้านบาท
ด้านรายได้ของกองทุนน้ำมัน มาจาก 3 ส่วน คือ 1.ภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ 2.ภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมัน และ 3.ผู้ค้าน้ำมันและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ที่ต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
ตัวอย่างโครงสร้างราคาน้ำมัน เช่น น้ำมันดีเซล 1 ลิตร มีราคาขายหน้าปั๊ม(วันที่ 19 พ.ค.65) อยู่ที่ 31.94 บาท ในราคานี้จะแยกออกมาได้เป็น ราคาหน้าโรงกลั่น 33.8752 บาทต่อลิตร เมื่อนำราคาดังกล่าวไปรวมกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต 3.2 บาท ภาษีเทศบาล 0.32 บาท และเงินส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ฯ 0.005 บาท จะทำให้ราคาขายส่งที่แท้จริงขิงน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ 37.4002 บาทต่อลิตร ซึ่งกองทุนน้ำมันจะเข้าไปช่วยอุดหนุนที่ 9.3 บาท ทำให้ราคาขายส่งน้ำมันจะเหลือ 28.1002 บาทต่อลิตร
เมื่อได้ราคาขายน้ำมันดีเซลส่งแล้ว การจะนำไปขายปลีกหน้าปั๊ม จะโดนเพิ่มค่าภาษีและการตลาด จึงทำให้ราคาขายหน้าปั๊มอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร
สำหรับสถานะทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 พบติดลบ 72,062 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 37,854 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 34,208 ล้านบาท
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ข้อมูลว่า เงื่อนไขสำคัญคือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะติดลบถึงระดับ 8 หมื่นล้านบาทหรือไม่ จากขณะนี้ติดลบกว่า 7.2 หมื่นล้านบาทแล้ว และแนวโน้มจากที่คาดว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะอยู่ระดับสูงระดับนี้ถึงสิ้นปี เพราะคาดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ก็มีโอกาสที่กองทุนน้ำมันฯจะติดลบถึงระดับแสนล้านบาท
ทั้งนี้คงต้องมาติดตามกันว่า สุดท้ายแล้วกองทุนน้ำมันฯ จะมีสถานะทางเงินติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทหรือไม่ แต่ที่แน่โอกาสที่ราคาน้ำมันจะถูกลง โดยเฉพาะดีเซล ให้ราคาเหลือต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร คงไม่น่าจะใช่เร็วๆนี้แน่นอน
ที่มาข้อมูล
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง