X
ส่อง “รถกระบะไฟฟ้า” “Isuzu D-Max EV” เริ่มผลิตในไทยปี 2568

ส่อง “รถกระบะไฟฟ้า” “Isuzu D-Max EV” เริ่มผลิตในไทยปี 2568

20 มี.ค. 2567
2850 views
ขนาดตัวอักษร

กระแสความนิยมรถไฟฟ้าในไทยยังแรงต่อเนื่อง แต่หลายเสียงยังรอคอยเมื่อไรนะ “รถกระบะไฟฟ้า” จะมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเอาใจคนชอบความแกร่ง ความมันส์สไตล์กระบะเท่านั้น


การรอคอยใกล้สิ้นสุด เมื่อ “อีซูซุ” พร้อมก้าวสู่ “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ด้วย “นโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับโลกและระดับประเทศ” เปิดตัวนวัตกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่เรียกความสนใจจากคนรักรถได้อย่างยอดเยี่ยม

 

นำทัพโดย “รถกระบะไฟฟ้า” ต้นแบบ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% กับ “Isuzu D-Max EV Concept” รถปิกอัพ 4 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Full Time โดยใช้แพลตฟอร์มเดียวกันกับรถปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซล ชุดมอเตอร์คู่และเฟืองท้ายที่พัฒนาขึ้นใหม่ ทำงานร่วมกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้มั่นใจบนทุกสภาพถนน เหมาะสมกับการใช้งานของรถปิกอัพ สร้างดุลยภาพในการขับขี่ให้นุ่มนวล และเพิ่มขีดความสามารถในการบรรทุกอันยอดเยี่ยม 


มีมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูง 2  ตัว แรงบิดรวมกัน 325 นิวตัน-เมตร สามารถทำความเร็วสูงสุดได้กว่า 130 กม./ชม. ตั้งเป้าให้รถสามารถขับขี่ได้ในระยะทางที่มากกว่า 300 กม./การชาร์จ โครงรถและตัวถังแข็งแกร่งช่วยเพิ่มความสามารถในการลากจูงได้


โดยมีแผนจะเริ่มผลิตเพื่อส่งออกอย่างเป็นทางการจากฐานการผลิตในไทยปี 2568 และจะเปิดตัวจำหน่ายในทวีปยุโรป เช่น นอร์เวย์ ในปี 2568 ต่อด้วย สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ไทย และประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป


อีกรุ่นที่นำมาเปิดตัว คือ รถปิกอัพ “อีซูซุ ดีแมคซ์ ไฮ-แลนเดอร์ MHEV” 4 ประตู ใชเระบบการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ กับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ติดตั้งแบตเตอรี่ 48 โวลต์ ทำหน้าที่เสริมกำลังขับเคลื่อนให้กับเครื่องยนต์ 1.9 Ddi Blue Power เพื่อลดภาระการทำงานของเครื่องยนต์ในช่วงออกตัว ช่วยลดการสั่นสะเทือนในจังหวะสตาร์ทเครื่องยนต์และช่วยลด CO2 ได้อย่างมาก


หากใครกำลังมองหารถบรรทุกไฟฟ้า “อีซูซุ เอลฟ์ อีวี” (Isuzu Elf EV) ด้วยการออกแบบรถบรรทุกไฟฟ้าโดยเฉพาะ ที่คำนึงถึงความสมดุลของการกระจายน้ำหนัก ระยะช่วงล้อหลัง และรัศมีวงเลี้ยวที่เหมาะสม ใช้แพลตฟอร์มเดียวกันกับรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล แบตเตอรี่เลือกได้ตั้งแต่ 2 - 5 ก้อน ให้เหมาะกับการขนส่ง ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2566


รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดกลางเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Isuzu Elf FCEV) เหมาะกับการใช้งานบรรทุกหนัก สามารถเติมเชื้อเพลิงได้รวดเร็ว และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นการเพิ่มตัวเลือกรถบรรทุกในตลาด ตอบรับกับความต้องการก้าวสู่ยุคความเป็นกลางทางคาร์บอน


มร. ทาคาชิ โอไดระ กรรมการผู้จัดการ และรองประธานบริหารรับผิดชอบด้านวิศวกรรม และกลยุทธ์ความเป็นกลางทางคาร์บอน บริษัท อีซูซุมอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า อีซูซุได้ประกาศเป้าหมายจะ “สร้างเสริมการขับเคลื่อนอย่างสร้างสรรค์ของโลก” ด้วยการนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ และรถเครื่องยนต์ดีเซลหลากชนิด มาพร้อมกับเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง ตามนิยาม “คุณค่าผลิตภัณฑ์” 3 ประการ คือ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความเป็นมิตรกับผู้ใช้รถ ความน่าเชื่อถือและความต่อเนื่องในการดำเนินงาน โดย “แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมปี 2573” มีเป้าหมายที่จะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ทั้งรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ รถปิกอัพ และรถบัสโดยสาร อย่างครบถ้วน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามที่ได้ตั้งไว้


สำหรับประเทศไทย อีซูซุ วางแผนที่จะผลิตรถปิกอัพไฟฟ้าเพื่อส่งออกซึ่งจะเริ่มจากประเทศในโซนยุโรปในปี 2568 และจะทยอยเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ตามกฎระเบียบและความคืบหน้าด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ อีซูซุจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 240,000 ล้านบาท ในด้านการวิจัยและพัฒนาภายในปีงบประมาณ 2573 เพื่อดำเนินการเรื่องการปฏิรูปทางดิจิทัลเกี่ยวกับความเป็นการทางคาร์บอนและโลจิสติกส์ (CN and logistics DX) อีกทั้งการสร้างศูนย์พัฒนาและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ "The EARTH Lab" ภายในปี 2569


สำหรับนโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอีซูซุในประเทศไทย มร. ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก มีการผลิตรถยนต์ต่อปีมากถึง 1.8 - 1.9 ล้านคัน สูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก  ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines : ICE) เกือบทั้งหมด  ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 9.73 แสนล้านบาท  ซึ่งรถปิกอัพและอนุพันธ์ในฐานะ “โปรดักส์แชมเปี้ยน” เป็นรถที่ส่งออกมากที่สุดถึง 786,383 คัน คิดเป็น 70% จากรถทุกประเภท

นับจากนี้ไป อีซูซุในฐานะผู้นำรถเพื่อการพาณิชย์ของประเทศไทยพร้อมเดินหน้าสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทยในการมุ่งสู่สังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Society) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน ด้วยแนวคิด “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Multi-pathways to Carbon Neutrality) การนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อน และแตกต่างจากรถยนต์นั่ง ซึ่งเราต้องพิจารณาถึงการใช้งานเชิงพาณิชย์และส่วนตัว เราจึงพัฒนารถที่มี “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Multi-pathways to Carbon Neutrality) ไม่ใช่เพียงแต่รถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (FCEV) เท่านั้น แต่หมายรวมถึงพลังงานอื่นๆ เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Fuel) กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน อาทิ น้ำมันไบโอดีเซลเจนเนอเรชั่นใหม่จากพืชใช้แล้ว (HVO - Hydrotreated Vegetable Oil) และ น้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (e-Fuel) เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้รถอีซูซุด้วย


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)