X
แอร์บัสเปิดตัวสำนักงานใหม่ในกรุงเทพฯ

แอร์บัสเปิดตัวสำนักงานใหม่ในกรุงเทพฯ

23 พ.ค. 2568
180 views
ขนาดตัวอักษร

แอร์บัสเปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่ได้ขยายพื้นที่ขึ้นในกรุงเทพมหานครสำนักงานแห่งใหม่นี้มีพื้นที่รวม 1,200 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากพื้นที่สำนักงานเดิมถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และได้รวมพนักงานจำนวนกว่า 150 คน จากฝ่ายอากาศยานพาณิชย์ เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินป้องกันประเทศและอวกาศ ไว้ภายในพื้นที่เดียวกัน เพื่อเสริมสร้างการทำงานร่วมกันและมอบการสนับสนุนแก่ผู้ให้บริการแอร์บัสในประเทศไทยได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

ในพิธีเปิดสำนักงานใหม่ 


นายอานันท์ สแตนลีย์ (Anand Stanley) ประธานแอร์บัสประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้กล่าวว่า ความสำคัญของการขยายสำนักงานแอร์บัสในประเทศไทยหมุดหมายที่สำคัญครั้งนี้สะท้อนถึงการลงทุนอย่างต่อเนื่องของเราในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศไทย และเน้นย้ำถึงศักยภาพของแอร์บัสในการให้การสนับสนุนอย่างครอบคลุมในทุกด้านของธุรกิจ

ของเรา


"การขยายสำนักงานในกรุงเทพฯ ยังสะท้อนถึงการเติบโตอย่างโดดเด่นของการบริการด้านปฏิบัติการบินของเรา ซึ่งช่วยตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการมอบบริการและการสนับสนุนที่มีคุณภาพแก่สายการบินทั่วโลกในฐานะศูนย์ความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติการบินของแอร์บัส สำนักงานแห่งนี้จะให้การสนับสนุนทั้งแก่แอร์บัสและนาฟบลู (NAVBLUE) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางดิจิทัลของเราในด้านปฏิบัติการบิน"


ความต้องการสำหรับกิจกรรมในลักษณะ "Local for Global ที่เพิ่มขึ้น พื้นที่ภายในสำนักงานที่กว้างขวางมากขึ้นนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการและเสริมการสนับสนุนของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น"


สำนักงานแห่งใหม่นี้จะประกอบด้วยห้องจำลองการทำงานที่มีความทันสมัย สำหรับทดสอบและตรวจสอบโซลูชันซอฟต์แวร์ก่อนทำการส่งมอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการบูรณาการระบบจะเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติการสูงสุด


แอร์บัสมีบทบาทในประเทศไทยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2520 เมื่อการบินไทยได้เป็นหนึ่งในลูกค้าสายการบินรายแรกของบริษัท ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา แอร์บัสได้เสริมสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการรายสำคัญ อาทิ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยแอร์เอเชีย และไทยเวียตเจ็ท โดยปัจจุบันเครื่องบิน เอ350 (A350) ซึ่งเป็นผู้นำในด้านเครื่องบินพิสัยไกลของแอร์บัส ได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องบินหลักที่เชื่อมโยงประเทศไทยกับตลาดต่างประเทศ


นอกเหนือจากธุรกิจการบิน แอร์บัสยังมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอากาศยานป้องกันประเทศและอวกาศ (Defence and Space) ของประเทศไทย โดยแอร์บัสเฮลิคอปเตอร์ถูกนำมาใช้งานในภารกิจทางทหาร พลเรือน และการตอบสนองเหตุฉุกเฉิน กองทัพอากาศไทยได้นำเฮลิคอปเตอร์ เอช225เอ็ม (H225M)มาใช้ในภารกิจค้นหา ช่วยชีวิต และการลำเลียงต่าง ๆ ขณะที่กองทัพเรือไทยใช้ เอช145เอ็ม (H145M) เพื่อรองรับภารกิจปฏิบัติการต่าง ๆ ส่วนกองทัพบกไทยยังได้ประโยชน์จากเครื่องบินลำเลียงทางยุทธวิธี ซี295 (C295) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขนส่งสัมภาระ การลำเลียงกำลังพล และการฝึกกระโดดร่ม


ในด้านอวกาศ ความร่วมมือระหว่างแอร์บัสและประเทศไทยได้นำไปสู่การส่งดาวเทียมธีออส-2 (THEOS- 2)  ขึ้นสู่วงโคจรในปี 2566 ช่วยเสริมขีดความสามารถในการจัดการข้อมูลภูมิสารสนเทศของประเทศ โดย THEOS-2 ได้ยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในการติดตามการเปลี่ยน แปลงของสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการบริหารจัดการหลังเกิดภัยพิบัติ เห็นได้จากการนำดาวเทียมมาใช้ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด 


แอร์บัสมีฐานด้านอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในไทย มีศูนย์บริการลูกค้าเฮลิคอปเตอร์ที่ร่มเกล้า ซึ่งให้บริการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาอากาศยานแก่ทั้งภาคพลเรือนและภาคการทหาร พร้อมบริการให้คำปรึกษาทางเทคนิคแก่ลูกค้าในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา  มีความร่วมมือกับบริษัท อุตสาหกรรมการบินไทย (TA) เพื่อให้การสนับสนุนสำหรับการขายและจัดจำนายเฮลิคอปเตอร์สำหรับหน่วงงานทางทหารและภาครัฐของไทยอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมการบินยังคงเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย มีการจ้างงานมากกว่า 130,000 คนและได้สร้างมูลค่ากว่า 7 % ของ GDP ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศโดยทางอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้มีบทบาทสำคัญต่อการท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย


นายอานันท์ กล่าวอีกว่า การเปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่เป็นการยืนยันว่าเราจะลงทุนในประเทศไทยที่มีความสามารถในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) จึงขอให้ผู้นำภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมมือกันในการผลักดันการพัฒนาและการนำ SAF มาใช้ในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ด้วยทรัพยากรทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาล ฟางข้าว หรือซังข้าวโพดประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต SAF ได้มากกว่า 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการใช้เชื้อเพลิงเครื่องบินทั้งหมดของประเทศในปี 2562 


"การพัฒนาอุตสาหกรรม SAF ในระดับขนาดใหญ่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศเปิดโอกาสในการส่งออก และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา แอร์บัสและประเทศไทยได้สานความร่วมมือที่แน่นแฟ้น และการขยาย ธุรกิจครั้งล่าสุดนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของบทใหม่ในความสัมพันธ์อันยาวนาน “


Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)