เมื่อปี 60 ครม.ได้มีมติให้วันที่ 14 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
การกำหนดวันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนไทยถึงความสำคัญของควายและช่วยกันอนุรักษ์ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธุ์ไป ส่วนเหตุที่ต้องกำหนดให้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม เนื่องมาจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ควายไทยสืบมา
สำหรับควายในประเทศไทย แยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ควายป่ากับควายบ้าน และควายบ้าน โดยความบ้านยัง แบ่งได้อีก 2 ชนิด คือ ควายปลัก (Swamp buffalo) กับควายแม่น้ำ (River buffalo) ทั้งสองชนิดจัดอยู่ในวงศ์ สกุล และชนิดเดียวกันคือ Bubalus bubalis แต่มีความแตกต่างกันทางสรีรวิทยา อย่างเห็นได้ชัดเจน จากการศึกษาทางด้านชีวโมเลกุลพบควายปลักมีจำนวนโครโมโซม 24 คู่ ส่วนควายแม่น้ำมีจำนวนโครโมโซม 25 คู่ และสามารถผสมข้ามพันธุ์ระหว่างทั้งสองชนิดนี้ได้
ควายในประเทศไทย นอกเหนือจากควายบ้านที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างช้านาน ยังมี ควายป่า หรือ มหิงสา เป็น 1 ในสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทย แม้ภายนอกมีลักษณะคล้ายควายบ้าน แต่ลำตัวใหญ่ ล่ำสัน มีวงเขาตีโค้งกว้างกว่า และมีนิสัยดุร้ายกว่าควายบ้าน ปัจจุบันควายป่าของประเทศไทยคงเหลือเพียงแห่งเดียวคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี