(ซินหัว) — เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ธ.ค.) การศึกษาทางโบราณคดีครั้งใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์(Science Advances) ระบุว่าผู้อยู่อาศัยในที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตทางตอนใต้ ผสมพันธุ์จามรีและวัวแบบข้ามสายพันธุ์(crossbreeding) ตั้งแต่อย่างน้อยเมื่อ 2,500 ปีก่อนแล้ว
เป็นที่ทราบกันว่าการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างจามรีในท้องถิ่นกับวัว ผลิตสัตว์ลูกผสมที่รวมเอาความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสุดขั้วของจามรี เข้ากับความสามารถการผลิตเนื้อสัตว์และนมของวัว
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซื่อชวน (เสฉวน) มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์ เอ&เอฟ และมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์หลุยส์ รวบรวมและวิเคราะห์ซากจามรี วัว และสัตว์ลูกผสมจำนวน 193 ตัว ที่ได้จากการขุดค้นที่พื้นที่โบราณปังกา (Bangga site) ในเมืองซานหนาน ซึ่งมีอายุราว 2,350-2,700 ปีก่อน
นักโบราณคดีขุดพบซากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 10,000 ตัว ที่มีอายุ 2,200-3,000 ปีก่อน จากพื้นที่ปังกา โดยปังกาเป็นกลุ่มสิ่งปลูกสร้างหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่และสลับซับซ้อน ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 3,750 เมตร
การศึกษาทางพันธุกรรมเปิดเผยว่า วัวในพื้นที่ปังกามีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมกับจามรีที่เพาะเลี้ยงในท้องถิ่นประมาณร้อยละ 12-20 ขณะที่บรรพบุรุษของจามรียุคปัจจุบันซึ่งอาศัยอยู่บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ได้รับอิทธิพลมาจากวัวโบราณ โดยการแลกเปลี่ยนทางพันธุกรรมบ่งชี้ว่าชาวทิเบตโบราณใช้ประโยชน์จากการผสมแบบข้ามสายพันธุ์จามรี-วัวตั้งแต่ในขณะนั้นแล้ว
นอกจากนี้ ดีเอ็นเอของวัวจากพื้นที่ปังกายังคล้ายกับดีเอ็นเอของวัวพันธุ์ทอรีน (taurine cattle) ที่เก่าแก่มากกว่าและอาศัยอยู่ในที่ต่ำกว่าจากแถบตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งบ่งชี้ว่าวัวทอรีนมีแนวโน้มถูกนำไปยังภูมิภาคปังกาจากพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
การผลิตปศุสัตว์ รวมทั้งการเพาะปลูกข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีในพื้นที่ปังกา สะท้อนว่าวิถีชีวิตหลากหลายที่ผสมผสานการเกษตรเข้ากับการเพาะเลี้ยงสัตว์ในที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตตอนใต้ได้ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ประมาณ 2,000-3,000 ปีก่อน