X
รู้จัก “ดาวมงกุฎหนาม” ศัตรูตัวฉกาจของแนวปะการัง

รู้จัก “ดาวมงกุฎหนาม” ศัตรูตัวฉกาจของแนวปะการัง

29 มิ.ย. 2566
770 views
ขนาดตัวอักษร


อช.หาดนพรัตน์ธาราฯ ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการ อช.ทางทะเลฯ ลงพื้นที่สำรวจการแพร่ระบาดของ “ดาวมงกุฎหนาม” และดำเนินการควบคุมประชากรดาวมงกุฎหนามให้มีปริมาณลดลง รูปร่างของดาวมงกุฎหนามแม้จะดูน่ารักน่าเอ็นดู แต่น้องเขาก็นับได้ว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของแนวปะการังเลยนะ เราไปทำความรู้จักเจ้าดาวมงกุฎหนามกันเถอะ



เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566  อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ลงพื้นที่สำรวจการแพร่ระบาดของดาวมงกุฎหนาม บริเวณทิศเหนือ ทิศใต้ และฝั่งด้านทิศตะวันตกของกองหินบิด๊ะ (shark point) พบว่า บริเวณกองหินบิด๊ะ (Shark Point) เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และพบดาวมงกุฎหนามโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ตัวในระยะ 5 เมตร หรือพื้นที่สำรวจไม่เกิน 1 เฮกตาร์ (10,000 ตารางเมตร) พบดาวมงกุฎหนาม จำนวน 34 ตัว ซึ่งถือว่าระบาดรุนแรงมาก ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติฯ จึงได้ดำเนินการควบคุมประชากรดาวมงกุฎหนามให้มีปริมาณลดลงแล้ว


เว็บไซต์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ข้อมูลเรื่อง “ดาวมงกุฎหนาม” หรือ “ปลาดาวหนาม” เป็นตัวการที่ทำให้แนวปะการังหลายแห่งในโลกเสียหาย เนื่องจากดาวมงกุฎหนามจะกินปะการังเป็นอาหาร โดยการปล่อยกระเพาะอาหารออกมาคลุมบนปะการัง และปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อเยื่อปะการังแล้วดูดซึมเข้าไป ที่ใดที่ดาวมงกุฏหนามกินแล้วจะเห็นชัดว่าปะการังบริเวณนั้นจะขาว เพราะเนื้อเยื่อถูกกินไปหมดจนเหลือแต่โครงสร้างหินปูน เมื่อปะการังตายจะถูกแรงคลื่น ทำให้หักพังได้ง่าย


ลักษณะของดาวมงกุฎหนาม

โตเต็มวัย ปกติจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 25-30 เซ็นติเมตร มีแขนเป็นแฉก ๆ ประมาณ 8-21 แขน ใต้แขนมีขาขนาดเล็ก ๆ คล้ายกับปุ่มที่หนวดปลาหมึกเป็นจำนวนมากยื่นออกมายึดเกาะพื้น ตรงกลางตัวด้านล่างมีปาก มีหนามแหลมคมปกคลุมที่ตัวทางด้านบน บนหนามมีสารซาโปนิน (saponin) เคลือบอยู่ ซึ่งมีพิษต่อสัตว์หลายชนิด เป็นสัตว์ที่แยกเพศ มีการสืบพันธุ์แบบมีเพศ โดยตัวเมียปล่อยไข่ออกมานอกตัว และตัวผู้ปล่อยสเปอร์มออกมาผสมพันธุ์ ตัวเมียแต่ละตัวมีไข่ประมาณ 12-24 ล้านฟอง ฤดูกาลวางไข่ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ก็มีรายงานว่าปลาดาวที่ GREAT BARRIER REEF วางไข่ในเดือนธันวาคม และมกราคม ปัจจุบันยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ว่าทำไมในบางบริเวณ ดาวมงกุฎหนามจึงเพิ่มจำนวนได้มากมาย


ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)