X
“เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมที่ไร้ซึ่งพรมแดนแห่งภาษา

“เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมที่ไร้ซึ่งพรมแดนแห่งภาษา

27 ม.ค. 2566
1830 views
ขนาดตัวอักษร


“...เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา…” หนึ่งในประโยคสุดประทับใจ จาก เจ้าชายน้อย วรรณกรรมฝรั่งเศสอันโด่งดัง เรื่องราวของเจ้าชายน้อยผู้เดินทางมาจากต่างดาว เพื่อเสาะแสวงหาคำตอบของชีวิต ที่ถูกแปลมากกว่า 300 ภาษา สู่เจ้าชายน้อยภาษาถิ่นในประเทศไทย


เมื่อวานนี้ (26 ม.ค. 65) Backbone MCOT มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน “ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023” ที่จัดขึ้น ฯ สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร “เจ้าชายน้อย” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงาน โดยมูลนิธิอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี  ได้จัดแสดงนิทรรศการการ์ตูนเกี่ยวกับ “เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince)” วรรณกรรมในดวงใจใครหลาย ๆ คนนั่นเอง



เจ้าชาย ผู้มาจากดาวอื่น

    วรรณกรรมเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) เป็นเรื่องราวระหว่างเจ้าชาย ผู้มาจากดาว B612 ที่พยายามเสาะหาเพื่อนและชีวิตใหม่บนดาวของตัวเองแต่ไม่สำเร็จ จึงตัดสินใจหนีออกมาและเดินทางมายังโลกมนุษย์ เพื่อเดินทางเสาะแสวงหาคุณค่าของชีวิต ได้เจอกับผู้เขียน ทั้งคู่บอกเล่าประสบการณ์ เรียนรู้ชีวิตซึ่งกันและกัน โดยตัวละครของเจ้าชายน้อยนั้น จะเล่าเรื่องความรัก มิตรภาพ ความเอาใจใส่ดูแลกัน


    เจ้าชายน้อย เป็นผลงานเขียนของ “อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี” (Antoine de Saint-Exupéry) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1943 จนกระทั่งกลายเป็นหนังสือที่อยู่ในหัวใจของคนทั่วโลก โดยใน 1 ปี วรรณกรรมเจ้าชายน้อยจะถูกขายไม่ต่ำกว่า 5 ล้านเล่ม ต่อปี ทั่วโลก และในปี 2023 นี้ ก็เข้าสู่ปีที่ 80 แล้ว ที่วรรณกรรมเจ้าชายน้อยครองใจผู้อ่านมาอย่างยาวนาน



เจ้าชายน้อย คืนสู่อวกาศอีกครั้ง

เจ้าชายน้อย ได้หวนคืนสู่อวกาศอีกครั้ง เมื่อนักบินอวกาศ Thomas Pesquet ได้นำวรรณกรรมเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) ขึ้นไปอ่านขณะปฏิบัติภารกิจ ณ สถานีอวกาศนานาชาติ




วรรณกรรม ที่ก้าวข้ามพรมแดนของภาษา

นอกจากคัมภีร์ไบเบิลแล้ว “เจ้าชายน้อย” ก็เป็นอีกหนึ่งวรรณกรรมที่ถูกแปลมากที่สุดในโลก ก้าวข้ามพรมแดนภาษาต่าง ๆ กว่า 300 ภาษา และล่าสุดเจ้าชายน้อย ได้ถูกแปลเป็นภาษาถิ่นในประเทศไทยอีก 5 ภาษา 



    ส่วนประเทศไทยก็ได้นำวรรณกรมเจ้าชายน้อย มาแปลเป็นภาษาไทยเช่นกัน ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากนักอ่านตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์และภาษาถิ่น จึงเกิดเป็น “โครงการเจ้าชายน้อย ภาษาถิ่น ในประเทศไทย” จัดตั้งขึ้นโดย คุณสุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ


โดยเริ่มแปลเป็นภาษาไทยถิ่นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2560 เริ่มต้นด้วยการแปลเป็น “ภาษาล้านนา” เป็นภาษาถิ่นแรกเนื่องจากมีเอกลักษณ์ด้านคำและภาษา เป็นภาษาพื้นถิ่น แปลโดยคุณวิลักษณ์ ศรีปาซาง และคุณดิเรก อินจันทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ได้แปลเป็นภาษาปกาเกอะญอ โดย คุณจอนิ โอเดิเชา ปี พ.ศ. 2563 แปลเป็นภาษามลายูอักษรยาวี โดย คุณแวมายิ ปารามัล ในปี พ.ศ. 2565 ได้แปลเป็นภาษาเขมรสุรินทร์ โดย คุณอัษฎางค์ ชมดี และคุณดิเรก หงษ์ทอง

    ล่าสุดในปี พ.ศ. 2566 นี้ เนื่องในโอกาสที่วรรณกรรมเจ้าชายน้อย ครบรอบ 80 ปี นั้น กำลังดำเนินการแปลเป็นภาษามอร์แกน ซึ่งผู้ดำเนินโครงการ ตั้งใจให้ “โครงการเจ้าชายน้อย ภาษาถิ่น ในประเทศไทย” นั้น เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยสนับสนุนการอ่าน และจะช่วยอนุรักษ์ภาษาถิ่นของประเทศไทยอีกด้วย



จากวรรณกรรม สู่ลวดลายบนผืนผ้าไหม

จากตัวอักษรบนหนังสือ “เจ้าชายน้อย” ยังถูกนำมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านศิลปะบนผืนผ้าของไทยอีกด้วย โดยนักเรียนนักศึกษาที่มีฝีมือด้านสิ่งทอ ร่วมกันลงลายมัดหมี่ เป็นรูปเจ้าชายน้อย และตัวละครต่าง ๆ ลงบนผ้าไหม จนกลายเป็นลวดลายที่สวยงาม ผ้าไหมมัดหมี่ลายเจ้าชายน้อย ผืนเดียวของโลก


Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)