เริ่มแล้ว ข้อห้าม ภาชนะโฟม พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าไปในอุทยานฯ ทั่วประเทศ ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 1 แสนบาท ข้อมูลจากเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะ ที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติก ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - use plastics) เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิด ความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการลดขยะ ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 65 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ภายในปีนี้ (2565) รัฐบาลมีเป้าหมาย ยกเลิกการใช้พลาสติก ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั้งหมด 7 ชนิด มีอะไรบ้าง ไปดูกัน...
โดยข้อมูลในประกาศฯ ระบุว่า โฟม และ พลาสติก ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - use plastics) ที่ห้ามนำเข้าอุทยานฯ ได้แก่
1. ภาชนะ ที่ทำด้วยโฟม (ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง)
2. พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน
2. กล่องบรรจุอาหารพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว)
3. แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว)
4. หลอดพลาสติก (ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง)
5. ช้อน - ส้อม พลาสติก (ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง)
หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท
อ้างอิงข้อมูลจาก ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 79 ง หน้า 6 ลงวันที่ 5 เมษายน 2565
ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - use plastics) เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
1. ห้ามนำภาชนะ ที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติก ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - use plastics) ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบาง ใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน - ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (100,000 บาท)
2. ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจาก วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดย ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีมติ ครม. ให้ปี 2565 ลด-เลิกใช้ กล่องโฟมอาหาร ถุง-แก้ว-หลอด ช้อนส้อม พลาสติก ใช้ครั้งเดียว
ทั้งนี้ จากแนวทางการห้ามนำภาชนะ ที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติก ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ได้ออกประกาศ เป็นราชกิจจานุเบกษา มีโทษปรับสูงถึง 100,000 บาท นั้น ...Backbone MCOT พบว่า เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้เดินตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 โดยตั้งเป้าเดินหน้า ลดการใช้พลาสติก เลิกใช้กล่องโฟม แก้วพลาสติกบาง และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565
โดย นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากขยะพลาสติก สั่งเดินหน้าแก้ปัญหา ขยะพลาสติก ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทยอย่างจริงจัง
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 ซึ่งเห็นชอบแผนปฏิบัติการ ด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ขยะพลาสติก ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน กับทุกภาคส่วน มุ่งจัดการขยะพลาสติก ที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ บริหารจัดการขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มอบหมายให้ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อน การดำเนินงานภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573
ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือ จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนการดำเนินการ แบบสมัครใจ ดังนี้
1. การเลิกใช้พลาสติก หุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal)
2. การเลิกใช้ไมโครบีดส์ จากพลาสติก
3. การเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดบาง ร่วมกับภาคีเครือข่าย ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ
4. การลด, เลิกใช้ กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 โดยความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน
5. การสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับ การป้องกัน และแก้ไขปัญหา ขยะพลาสติก รณรงค์ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติก ผ่านช่องทางต่าง ๆ
6. การจัดทำฐานข้อมูล Material Flow of Plastic ของประเทศไทย
7. การจัดตั้งพื้นที่นำร่อง เพื่อเป็นชุมชนตัวอย่าง ด้านการจัดการขยะพลาสติก
8. การพัฒนาแนวทางการใช้ประโยชน์ จากขยะพลาสติก
9. การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็น จากหน่วยงานจังหวัด ร้านขายของชำ และตลาดสด เพื่อขยายผลการดำเนินมาตรการ งดให้ถุงพลาสติก
10. การขับเคลื่อนการดำเนินงาน เกี่ยวกับการจัดการพลาสติก แบบใช้ครั้งเดียว และขยะพลาสติก จากธุรกิจสินค้าออนไลน์
11. การลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การลดการใช้พลาสติก แบบใช้ครั้งเดียว จากการบริการส่งอาหาร (Food Delivery)
12. การขับเคลื่อน โครงการความร่วมมือ ระหว่างประเทศ เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหา ขยะพลาสติกในทะเล ร่วมกับองค์กรต่าง ๆ อาทิ ธนาคารโลก, ธนาคารพัฒนาเอเชีย, องค์กรความร่วมมือ ระหว่างประเทศของเยอรมัน
13. การกำหนดมาตรการกำกับ เพื่อควบคุมการนำเข้า เศษพลาสติกจากต่างประเทศ
ภายในปี 2565 ยกเลิกการใช้พลาสติก แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 7 ชนิด มีอะไรบ้าง
โดยข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่เปิดเผยบทวิเคราะห์ เรื่อง มาตรการลดใช้พลาสติก กระทบธุรกิจ SME อย่างไร (ข้อมูลวิจัย ม.ค.2562) ได้ระบุถึงปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก ที่ภาครัฐและเอกชน ตระหนักถึงความสำคัญ และกำหนดเป้าหมายยกเลิก การใช้พลาสติก แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 7 ชนิด ภายในปี 2565 ซึ่งตามแผนจัดการขยะพลาสติก ได้แบ่งเป็น 2 เป้าหมายย่อย ดังนี้
เป้าหมายแรก การลดและเลิกใช้พลาสติก เป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
+ ในปี 2562 เลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่
1. พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal)
2. ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ็อกโซ่ (Oxo)
3. พลาสติกไมโครบีด (Microbead)
+ ในปี 2565 เลิกใช้พลาสติกอีก 4 ประเภท ได้แก่
1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน (เมื่อ 12 พ.ย. 2562 มีมติจาก ครม. ให้ยกเลิกรวมถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาด 40, 45 และ 50 ไมครอน เข้าไปด้วย)
2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร
3. แก้วพลาสติกแบบบาง ใช้ครั้งเดียว
4. หลอดพลาสติก
เป้าหมายที่ 2 ภายในปี 2570 ได้กำหนดเป้าหมาย ให้นำขยะพลาสติกเป้าหมาย อย่าง ขยะผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติก กลับมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด 100% ซึ่งรวมไปถึงการใช้วัสดุทดแทน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ คำว่า "Single - use plastic" คืออะไร ..Backbone MCOT มีที่มาของข้อมูล มาบอก... จากข้อมูลของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ปี พ.ศ. 2561 "คอลลินน์" ผู้จัดทำพจนานุกรม ภาษาอังกฤษ ได้ประกาศให้คำว่า Single - use (ซิงเกิลยูสต์) เป็นคำศัพท์ ที่อยู่ในกระแสแห่งปี นั่นก็เพื่อความตระหนักเรื่อง การใช้ Single - use Plastic หรือ "พลาสติก ใช้ครั้งเดียวทิ้ง" ซึ่งหมายรวมถึง ถุง ขวด หลอด อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ที่โยนทิ้ง หลังจากใช้แล้วแค่ครั้งเดียว ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้น แต่ใช้เวลาย่อยสลายนานแสนนาน
จากสถิติทั่วโลก ทุก ๆ 1 นาที มีการใช้ถุงพลาสติก 1 ล้านใบ แต่ถุงพลาสติก มีอายุการใช้เพียงแค่ 15 นาที
ประเทศไทย มีขยะพลาสติก เกิดขึ้นปีละ 2 ล้านตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่เพียงปีละ 5 แสนตัน ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน ต้องนำไปกำจัด ในขณะที่ขยะพลาสติก อีกจำนวนไม่น้อย ยังปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือไหลลงสู่ทะเล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ชุดข้อมูลความรู้ :
ราชกิจจานุเบกษา >> ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - use plastics) เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ
***เป้าหมายยกเลิก การใช้พลาสติก แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 7 ชนิด ภายในปี 2565***
คลิกเพื่ออ่าน >> บทวิเคราะห์จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เรื่อง มาตรการลดใช้พลาสติก กระทบธุรกิจ SME อย่างไร (ข้อมูลวิจัย ม.ค.2562)
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
https://portal.dnp.go.th
เว็บไซต์ : ราชกิจจานุเบกษา
http://www.ratchakitcha.soc.go.th
เว็บไซต์ : รัฐบาลไทย
https://www.thaigov.go.th
เว็บไซต์ : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
https://datacenter.deqp.go.th
8 เม.ย 2565
3300 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย