สิ่งที่เรานำมาเล่าเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกที่จดโดยพ่อค้าชาวฝรั่งเศส ฌาคส์ เดอ คูทร์ ที่เข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เวลา 8 เดือน เดอ คูทร์ เฝ้ามองกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะจดบันทึกถึง สังคม และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเด็ดขาดและการใช้พระราชอำนาจ
เดอ คูทร์ บันทึกว่า การลงพระราชอาญาผู้กระทำผิดของสมเด็จพระนเรศมีความเด็ดขาดรุนแรงจนเป็นที่เกรงขามของคนทั่วไป เดอ คูทร์ เห็นการลงพระราชอาญาหลายครั้งด้วยตาของตัวเอง …. สมเด็จพระนเรศทรงมีรับสั่งให้ลงพระราชอาญาด้วยพระองค์เองเสมอ และบ่อยครั้งที่การลงพระราชอาญาทำต่อหน้าพระพักตร์
เดอ คูทร์ บันทึกว่า เขาเห็นพระองค์มีพระราชโองการให้นักโทษประหาร 10 คนเข้าไปสู้กับควายภูเขาที่ดุร้ายอยู่ 8 ตัว ทรงมีรับสั่งว่าผู้ใดที่สามารถต่อสู้ได้ดีที่สุดจะได้รับการไว้ชีวิต โดยนักโทษแต่ละคนมีหอกคนละเล่ม สุดท้ายมีผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวโดยได้รับบาดเจ็บสาหัส พระองค์จึงโปรดพระราชทานอภัยโทษนักโทษผู้นี้เนื่องจากมีความเหี้ยมหาญ
เยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือ วันวลิต พ่อค้าชาวดัตช์ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยา หลังจาก เดอ คูทร์ คือ 30 ปีหลังรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รับฟังเรื่องเล่าแล้วจดบันทึกไว้ว่า … ขุนนางทั้งหลาย รับราชการอยู่ด้วยความหวาดกลัวพระเจ้าแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า ขุนนางจะจัดบ้านช่องเหมือนกับว่าตนจะไปตาย เพราะว่าขุนนางกลัวอยู่เสมอว่าตัวจะไม่ได้กลับมาเห็นบ้านอีก”
เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศยังถูกบันทึกไว้ ในมหาราชวงษ์พงษาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้านันทบุเรงทรงมีรับสั่งให้ยกทัพไปตีกรุงศรีอยุทธยาในสงครามยุทธหัตถี พระยาลอได้กราบบังคมทูลว่า “ถ้าจะเปรียบไปแล้วกำลังแลทหารของพระนเรศนั้น 10 ส่วนจะเอาสักส่วนหนึ่งของพระองค์นั้นไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่ว่าพระนเรศนี้มีอานุภาพกล้าหาญนัก เมื่อเห็นกองทัพฝ่ายหนึ่งเข้าแล้วพลทหารของพระนเรศมิได้ย่อท้อกลัวเกรงแก่ข้าศึกเลย เขากลัวแต่เจ้าของเขาเท่านั้น”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนำประโยคดังกล่าวมาเรียบเรียงใน “พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า” ใหม่ว่า … รี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดชีวิตด้วยกันทั้งนั้น”
นี่คือบางส่วน ที่แสดงถึงการใช้ พระราชอำนาจ เด็ดขาดในการปกครองแผ่นดินของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เหตุผลทีพระองค์ต้องเข้มงวดขนาดนี้ เป็นเพราะต้องการให้ ข้าราชการ ขุนนาง และประชาชน มีระเบียบ และยำเกรงพระราชอำนาจของพระองค์ ไม่กล้ากระทำความผิด
เคยตั้งคำถามกันไหมครับว่าทำไม กรุงศรีอยุธยาจึงเสียแก่พม่า ในรัชสมัยพระมหินทราธิราช กรุงศรีอยุธยาในเวลานั้น บ้านเมืองอ่อนแอ ทหารไพร่พลก็ไม่เกรงกลัวพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ มีขุนนางทรยศต่อบ้านเมืองจนเป็นเหตุให้พม่าบุกเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาได้ ความอ่อนแอที่ขาดจิตสำนึกรักบ้านเมืองของผู้คน และความเข้มแข็งของกองทัพต้องการ ความเด็ดขาด และระเบียบวินัย จะอาศัยแต่กฎหมายหรือธรรมเนียมทหารคงไม่ได้ ผู้นำต้องมีความเด็ดขาด พระวิสัยทัศน์ที่ทรงให้ความสำคัญกับการใช้ พระบรมเดชานุภาพ ในการปกครองบ้านเมืองและกองทัพ นำมาซึ่งความสงบและมั่นคงยาวนานมาอีกหลายสิบปีหลังจากแผ่นดินของพระองค์