จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 4.5 ที่จังหวัดพิษณุโลก มีรายงานการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้หลายพื้นที่อำเภอ และจังหวัดข้างเคียง เมื่อเวลา 00.17 น. วันที่ 29 มิถุนายน 2566 นั้น หลายคนอาจจะได้ยินคำว่า “ริกเตอร์” และ “แมกนิจูด” แต่ไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร? วันนี้ BackboneMCOT หาคำตอบมาให้แล้ว
นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. ให้ความรู้เกี่ยวกับ “ริกเตอร์” และ “แมกนิจูด” เอาไว้ดังนี้
ริกเตอร์ (Richter magnitude scale หรือ local magnitude scale : ML)
เป็นชื่อมาตราวัดขนาดแผ่นดินไหว ที่ ชาลส์ ฟรานซิส ริกเตอร์ (Charles Francis Richter) จาก California Institute of Technology สหรัฐอเมริกา พัฒนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1935 โดยใช้ข้อมูลความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่า seismograph มาคำนวณขนาดของแผ่นดินไหว ณ ตำแหน่งที่เกิด ซึ่งแบ่งขนาดแผ่นดินไหวเป็น 0-9
(อ่าน : ริกเตอร์เท่านี้ ความรุนแรงขนาดไหน?)
แมกนิจูด (magnitude)
แปลว่า ขนาด (ของแผ่นดินไหว) ไม่ใช่หน่วย เราอาจเคยเห็นในข่าวต่างประเทศรายงานเกี่ยวกับแผ่นดินไหวว่ามีขนาด 7.8 magnitude earthquake/quake เมื่อแปลเป็นไทยก็คือ แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ซึ่งไม่ต้องเติมแมกนิจูดต่อท้ายแล้ว
ในประเทศไทยจะใช้มาตราริกเตอร์เป็นหลัก แต่มาตราริกเตอร์มีจุดอ่อนคือใช้วัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิน 7 ไม่ได้
จุดอ่อนนี้คือสาเหตุที่ทำให้มีผู้พัฒนามาตราวัดขนาดแผ่นดินไหวอื่น ๆ ขึ้นมาอีก เช่น มาตราโมเมนต์ (Mw), มาตราคลื่นตัวกลาง (mb), มาตราคลื่นผิว (MS) โดยมาตราที่นิยมใช้กันในปัจจุบันคือ มาตราโมเมนต์ที่วัดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อย่างแม่นยำ
ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.