Management by Walking Around หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า MBWA เป็นคำที่คิดค้นโดย Tom Peters ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการ จากการศึกษาบริษัทที่ประสบความสำเร็จและแนวทางปฏิบัติ Tom Peters สังเกตว่าผู้จัดการที่ดีมักจะสื่อสารกับทีมได้ดีขึ้นมาก การสื่อสารนั้นเป็นการสื่อสารแบบไม่เป็นทางการ คือ แทนที่ผู้บริหารจะนั่งอยู่เฉยๆในห้อง จะเป็นการออกไปพบปะ พูดคุย ปฏิสัมพันธ์ เจอหน้า เจอตัว การออกไปพบพรักงานนอกจากเห็นสภาพการทำงานจริง ยังทำให้ได้สัมผัสกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อทำการแก้ไข ให้กำลังใจ ดีกว่าที่จะรอคอยรายงานที่ส่งมาทางอีเมล์หรือที่ร้ายกว่านั้นคืออ่านรายงานจากกระดาษที่มีการแต่งเติมเสริมให้ดูดี กลบทับปัญหาจริงๆที่เกิดขึ้น นี่คือสไตล์การทำงานที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนล่าสุด ชัชชาติ สุทธิพันธุ์ ทำอยู่
หลักการของแนวคิดนี้ คือ การฟัง และการตอบสนองต่อความคิดหรือปัญหาที่เปล่งออกมา ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพแซม วอลตัน ผู้ก่อตั้ง Walmart เป็นตัวอย่างที่ดีของแนวทางปฏิบัตินี้ แซมเชื่อในการเยี่ยมชมร้านค้าของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และพูดคุยกับพนักงานแนวหน้า
MBWA จะลดระยะห่าง เชื่อมความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วม พื้นที่ทั้งหมดของสำนักงานไม่ใช่ข้อจำกัด ทุกที่คือพื้นที่ของการ ทำงาน ทำงาน และทำงาน การเคลื่อนไหวโดยไม่ได้วางแผนภายในสถานที่ทำงาน มากกว่าแผนที่พนักงานคาดหวัง การให้ผู้บริหารมาเยี่ยมตามเวลาที่เป็นระบบ ทำให้ประสิทธิผลบางอย่างได้รับการอนุมัติล่วงหน้า งานที่ได้รับมอบหมายหรือปัญหาก็ได้รับการแก้ไขตามกำหนดการ
โชติศักดิ์ อาสภวิริยะ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เล่าว่า เคล็ดลับในการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิได้ทันเวลา MBWA นี่แหละ เมื่อตอนเข้ามาดูแลการท่าอากาศยานไทย และสนามบินสุวรรณภูมิกำลังจะเปิดให้บริการ เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกส่วนเดินหน้าไปให้ได้ การลดขั้นตอนการทำงานแบบไทยที่มีระบบ ขั้นตอน วิธีที่ดีที่สุดคือการเดินชนปัญหา เข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้ธุรกิจเติบโต การชนกับปัญหาจะแก้ปัญหาได้ดีและเร็ว การสื่อสารกับพนักงาน เราเข้าใจความรู้สึก และได้ฟังสิ่งที่เขาพูดกับหัวหน้าไม่ได้
อีกวิธีการลดขั้นตอนอีกแบบคือเอาผู้บริหารทุกส่วนมานั่งคุยกัน แล้วลิสต์ปัญหาขึ้นมา ถ้าหลักการมีวิธีการแก้ไขปัญหาได้ก็อนุมัติไปพร้อมๆ กัน ไม่ต้องไปส่งความเห็นไปทีละขั้นตอนซึ่งเสียเวลา ไปสื่อสารกับพนักงาน แค่ไปปรากฏตัวไม่ได้พูดอะไรเขาก็เร่งทำงานแล้ว ยิ่งถ้าไปเจอปัญหาเราจะตัดสินใจประสานงานติดต่อสื่อสารได้เร็วกว่าพนักงาน ทำให้การแก้ไขปัญหารวดเร็วมากขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น MBWA ไม่ได้ใช้เฉพาะภายในองค์กรแต่ทำนอกองค์กรก็ได้ เมื่อเราออกไปประสานงานกับหน่วยงานอื่น ถ้าในการทำงานมีปัญหาการแก้ไขก็จะทำได้เร็ว
“สิ่งที่คุณชัชชาติทำอยู่จะทำให้งานของกทม.ไหลลื่น จะแก้ปัญหาได้มาก การลงไปสัมผัสปัญหาจะทำให้ทำงานได้เร็วเมื่อ เห็นปัญหาแล้วก็จะได้รู้ว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ หรือเป็นปัญหาที่มนุษย์ “แกล้ง” สร้างขึ้น ปัญหาบางอย่างไม่ใช่ปัญหาจริงๆ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากคนสร้างขึ้น ด้วยการแกล้งสร้างปัญหา เช่น การอ้างกฎระเบียบว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะหากการทำงานต้องไปทำกับคนที่ไม่ได้มีเจตนารมณ์เดียวกัน ก็จะมีมนุษย์ที่เกี่ยวข้องสร้างปัญหาทำให้เกิดการเตะถ่วงเสียเวลา เรื่องเหล่านี้เป็นความเสียหายของประเทศชาติ แต่ก็เชื่อว่าคุณชัชชาติจะจัดการได้”
ไม่รู้ว่าคุณชัชชาติใช้ทฤษฎีนี้บริหารหรือเปล่า วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ชัชชาติสไตล์” โดนใจคนกรุงเทพฯ และคนรุ่นใหม่ มากๆเรื่องการทำงาน ต้องดูกันยาวๆ และดูว่าคุณชัชชาติจะใช้ Management by Walking Around จัดการกับปัญหาของกทม.แค่ไหน