21 ก.ย.65 - กทม. เอาจริง เร่งฟื้นฟูคลองหัวลำโพง หลังเน่าเสียหนัก พบค่าแบคทีเรียสิ่งปฏิกูลปนเกินค่ามาตรฐานหลักล้าน ปนเปื้อนในน้ำคลอง จะนำร่องพัฒนาให้สะอาด ยกเป็นเรื่องท้าทาย ถ้าทำได้ขยายผลคลองทั่ว กทม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดกิจกรรมฟื้นฟูคลองหัวลำโพง ตามโครงการนำร่องเนื่องในวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ 20 กันยายน 2565 ณ บริเวณหน่วยเก็บขยะทางน้ำคลองหัวลำโพง เขตคลองเตย พร้อมทั้งร่วมปลูกต้นอโศกอินเดีย จำนวน 70 ต้น
คลองหัวลำโพงเป็นจุดที่ท้าทาย จากจุดที่ตรวจสอบนี้จะได้กลิ่นน้ำเน่าเหม็นคลุ้ง เพราะว่ามีบ้านเรือนที่อยู่ริมคลองทิ้งสิ่งปฏิกูลลงคลองเลย ทั้งห้องส้วม ทั้งการซักล้าง อีกทั้งต้นทางมีตลาดคลองเตยที่เป็นตลาดใหญ่ที่เป็นอีกต้นเหตุหนึ่งโดยจะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาให้สะอาด ถ้าทำได้จะขยายผลไปทั่วพื้นที่กทม. อีกทั้งตรงนี้เป็นคลองที่ระยะทางมันสั้นแค่ 3 กิโลเมตร เป็นจุดที่เราดูแลได้เต็มที่ ไม่มีการสัญจรทางน้ำ ทำให้การควบคุมดูแลทำได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ระบุชัดว่าค่าแบคทีเรียฯ สูงเกินค่ามามาตรฐานมากจึงต้องเร่งแก้ไขคุณภาพของน้ำในลำคลองแห่งนี้ และควรงดกิจกรรมในลำคลองทันที เนื่องจากมีค่าแบคทีเรียฯ ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนได้
สำหรับข้อมูลจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำในคลองหัวลำโพง โดยดร.ไชโย จุ้ยศิริ ผู้อำนวยการส่วนแหล่งน้ำจืด กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า
- คลองหัวลำโพงวัดค่า FCB หรือค่าความสกปรกที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งปฏิกูลได้หลักแสน หลักล้าน ทั้งที่ปกติแล้วคลองที่มีคุณภาพดีควรมีค่าเฉลี่ยจากการปนเปื้อนแบคทีเรียฯ กลุ่มนี้ไม่เกิน 4,000
- ส่วนค่าบีโอดี BOD (Biological Oxygen Demand ) หรือการหาปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการหายใจวัดได้หลักร้อย ซึ่งทั้ง 2 ค่านี้สูงกว่าเกณฑ์ปกติการใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำประเภทที่ 3
- หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า ค่า BOD หรือค่าความสกปรก ถ้าคลองปกติทั่วไปจะมีค่าค่าอยู่ที่ 1.5 – 2 มิลลิกรัม/ลิตรแต่คลองหัวลำโพงที่ตรวจสอบ พบค่าความสกปรก สูงกว่าหลัก 100 มิลลิกรัม/ลิตร ขึ้นไป เห็นได้ชัดเจนว่าน้ำในคลองเน่าเสีย
- นอกจากที่ต้องรับน้ำเสียจากชุมชนแล้ว ยังต้องรับน้ำเสียจากสุขุมวิทและถนนพระราม 4 อีกด้วย
ด้านนายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแผนการฟื้นฟูคลองหัวลำโพง 3 เฟส เฟสแรก ระยะ 6 เดือน สร้างผังข้อมูลน้ำและโมเดลนำร่อง เฟสที่ 2 ระยะ 10 เดือน เริ่มโมเดลนำร่องในจุดที่น้ำมีคุณภาพแย่ ส่วนเฟสที่ 3 ปรับภูมิทัศน์บ้านเรือน และสำรวจความเข้มข้นของน้ำ